ผลการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนขยายโอกาสด้วยการประยุกต์ใช้ทักษะการใช้ภาษาไทย ผ่านกิจกรรมเฟรเยอร์ โมเดล


นักวิจัย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์เบญจมาพร อุผา คณะครุศาสตร์


แนวคิดที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้


กระทรวงศึกษาธิการ มีแนวคิดที่สำคัญ คือ การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานจะต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนของชาติให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ให้มีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล สอดคล้องกับประเทศไทย 4.0 และโลกในศตวรรษที่ 21
เฟรเยอร์โมเดล (Frayer Model) เป็นรูปแบบที่ถูกใช้กันอย่างกว้างขวางในประเทศสหรัฐอเมริกาในการจัดการเรียนรู้ที่ช่วยพัฒนาทักษะการใช้ภาษาสำหรับผู้เรียน โดยมีแนวทางที่สำคัญคือการให้ผู้เรียนเข้าใจนิยามของคำศัพท์ หรือเนื้อหาที่กำลังจะเรียนรู้ สามารถบอกคุณลักษณะที่สำคัญ ยกตัวอย่างที่ถูกต้อง และอธิบายลักษณะการใช้ประโยชน์ได้
ด้วยเห็นความสำคัญของการจัดการเรียนรู้ ที่ต้องมีรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เร้าความสนใจผู้เรียน พัฒนาผู้เรียนให้เกิดทักษะการเรียนรู้อย่างเท่าทัน ผู้วิจัยจึงได้ศึกษาการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ ในโรงเรียนขยายโอกาสด้วยการประยุกต์ใช้ทักษะการใช้ภาษาไทยผ่านกิจกรรม Frayer Model โดยมีวัตถุประสงค์ ที่สำคัญเพื่อออกแบบการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทย และเพื่อเปรียบเทียบผลการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ร่วมกับการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยโดยใช้กิจกรรม Frayer Model


ผลการดำเนินงาน

1. กระบวนการสอนโดยใช้กิจกรรม Frayer model สามารถพัฒนากระบวนการสอนวิทยาศาสตร์ได้ โดยอ้างอิงจากการวิเคราะห์ค่าสถิติทดสอบ t – test ของคะแนนสอบก่อนเรียน – หลังเรียน และคะแนนเก็บของนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำที่ร้อยละ 60 ของคะแนนเต็ม พบว่า ทั้งสองค่าบ่งบอกถึงการพัฒนากระบวนการสอนในทางที่ดีขึ้นจากเดิม หรือมีการพัฒนากระบวนการสอน สามารถพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยของนักเรียนในรายวิชาวิทยาศาสตร์ได้โดยใช้กิจกรรม Frayer model

2. ประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ของวิชาวิทยาศาสตร์โดยใช้กิจกรรม Frayer model โดยการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ก่อนเรียนและหลังเรียน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พบว่า ผู้เรียนเกิดการพัฒนากระบวนการสอนโดยใช้ Frayer Model โดยอ้างอิงจากคะแนนทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน

 

การนำผลงานไปใช้ประโยชน์


ด้านสาธารณะ

โรงเรียนขยายโอกาสในจังหวัดสกลนคร คือ โรงเรียนบ้านพานสหราษฎร์บำรุง และโรงเรียนบ้านโคกก่อง สหมิตรวิทยาคาร ได้นำเอารูปแบบพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยของนักเรียนในรายวิชาวิทยาศาสตร์ได้โดยใช้กิจกรรม Frayer model ไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียน เพื่อพัฒนาทักษะทักษะการอ่านออกเขียนได้การอ่านตีความ และการอ่านจับใจความสำคัญของผู้เรียนในรายวิชาวิทยาศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 อีกทั้งยังได้นำรูปแบบการจัดการเรียนรู้ดังกล่าวไปขยายผล ต่อยอด และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของผู้เรียนในระดับชั้นอื่น ๆ อีกด้วย


อ้างอิงข้อมูลจาก

โครงการวิจัย :ผลการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนขยายโอกาสด้วยการประยุกต์ใช้ทักษะการใช้ภาษาไทย ผ่านกิจกรรมเฟรเยอร์ โมเดล

หัวหน้าโครงการ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์เบญจมาพร อุผา คณะครุศาสตร์
สนับสนุนโดย : ทุนสนับสนุนการวิจัยสำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จากงบประมาณเงินรายได้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562

 

©2024 RDI.SNRU.AC.TH. ALL RIGHTS RESERVED.