ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาคริต ชาญชิตปรีชา รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร หัวหน้าโครงการ พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร.ทศวรรษ สีตะวัน รองอธิการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม อาจารย์ นักวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ร่วมประชุมเริ่มต้นโครงการ (Kick Off) การยกระดับผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่แล้งด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชนท้องถิ่นจังหวัดสกลนคร โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) ภายใต้โครงการเครือข่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ : เครือข่ายยกระดับศักยภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนประจำปี 2565 ในการนี้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ไทย สุรกิจบวร สมาชิกวุฒิสภา ในนามอนุกรรมาธิการการบูรณาการบริการวิชาการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วมและมุ่งผลสัมฤทธิ์ รองศาสตราจารย์ ดร.จำนง วงษ์ชาชม เลขานุการประจำอนุกรรมาธิการ ฯ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัลนิกา ฉลากบาง เลขานุการอนุกรรมาธิการ ฯ เข้าร่วมการประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ณ ห้องประชุมสถาบันวิจัยและพัฒนา ชั้น 2 อาคารปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์วิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายในการแก้ปัญหาภัยแล้งด้วยเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจรที่เหมาะสมกับพื้นที่ พร้อมยกระดับผลผลิตทางการเกษตรที่สามารถลดต้นทุนและเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร โดยถ่ายทอดองค์ความรู้และบูรณาการการทำงานอย่างมีส่วนร่วมทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย สู่ความเข้มแข็งและยั่งยืนของชุมชน ซึ่งประกอบด้วย 12 กิจกรรม ในพื้นที่เป้าหมาย 2 อำเภอในจังหวัดสกลนคร ได้แก่ กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูข้าวพันธุ์พื้นเมือง “หอมดอกฮัง” บ้านโคกสะอาด ตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ และกลุ่มสมุนไพร บ้านโพนปลาโหล ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย ที่สำคัญยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ที่เกิดจากความต้องการของชุมชนท้องถิ่น