เกษตรกร จ.สกลนคร เริ่มปลูก “มันฝรั่ง” ส่งโรงงานขนมแล้ว เป็นพืชหลังนาเหมาะกับอากาศหนาว ในปี 2567 คาดการณ์ปลูกมันฝรั่ง 1,200 ไร่ เกิดการจ้างแรงงานและสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน 20 ล้านบาท ด้านนักวิจัย ม.ราชภัฏสกลนคร พร้อมขยายผลพื้นที่โมเดลแก้จนเสริมเทคโนโลยีและแปรรูป
วันที่ 20 พ.ย. 2567 นักวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ทีมปฏิบัติการโมเดลแก้จน นำกลุ่มเป้าหมาย ไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่กลุ่มแปลงใหญ่มันฝรั่ง ต.โคกก่อง อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร โดยมีเกษตรกรที่มีประสบการณ์แนะนำการปลูก การลงทุน และศึกษาระบบผลิตที่แปลงปลูกมันฝรั่ง
ชาวบ้าน ต.โคกก่อง อ.เมืองสกลนคร รวมกลุ่ม “แปลงใหญ่มันฝรั่งโคกก่อง” ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 500 คน ปลูกมันฝรั่งภายใต้สัญญาข้อตกลงซื้อขายผลผลิตพร้อมประกันราคา โดยทำเกษตรพันธสัญญา (contract farming) กับบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด รูปแบบการปลูกมี 2 ประเภท คือ ปลูกเพื่อทำหัวพันธุ์ และปลูกส่งแปรรูปขนม โดยเกษตรกรจะได้รับปัจจัยการผลิตจากบริษัท เช่น ปุ๋ย ยา หัวพันธุ์มันฝรั่ง เป็นต้น บริษัท ฯ รับประกันราคาซื้อขายมันฝรั่งปลูกใน 2 ช่วง คือ ช่วงแรกเดือนตุลาคม และช่วงสองเดือนพฤศจิกายน เก็บผลผลิตประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ มีระยะเวลาการผลิต 85-90 วัน รอบการผลิตประจำปี 2567 มีเกษตรกรตำบลโคกก่องทำสัญญาปลูกมันฝรั่งแล้วประมาณ 1,200 ไร่ เกิดการจ้างแรงงานในชุมชนกว่า 500 คน คาดการณ์เศรษฐกิจหมุนเวียนในตำบล 20-30 ล้านบาท
คุณอำพร บุญร่วม |
คุณอำพร บุญร่วม เกษตรกรบ้านโคกก่อง เล่าให้ฟังว่า ตนเองและครอบครัวปลูกมันฝรั่งมา 20 ปี ในปีที่ผ่านมาปลูก 6 ไร่ รายได้หลังหักรายจ่าย คือ ต้นทุนปัจจัยการผลิตของบริษัท และต้นทุนส่วนอื่น ๆ เช่น ค่าจ้างรถไถ ค่าจ้างแรงงานรายวัน ค่าน้ำมันเครื่องสูบน้ำ เดินท่อน้ำเข้าแปลง เป็นต้น เฉลี่ยได้กำไรประมาณ 70,000 บาทต่อรอบการผลิต
ตนเองให้ความสำคัญกับการปลูกและการดูแลมันฝรั่ง เช่น เผาตอฟางป้องกันเพลี้ยและหนอน ไถพรวนแล้วตากดิน ใช้รถไถนาเดินตามยกแปลงปลูก ใส่ปุ๋ยและไถกลบ 2 รอบ ถอนหญ้า ให้น้ำสม่ำเสมอ เป็นต้น สำหรับผู้ที่สนใจปลูกต้องมีพื้นที่แปลงที่เหมาะสม คือ ดินร่วนปนทราย อากาศหนาว มีแหล่งน้ำเพียงพอ
คุณอำพร เล่าต่อว่า ปัญหาในการเพราะปลูกส่วนใหญ่ คือ ศัตรูพืชจำพวกแมลง เพลี้ย ราในใบ-ต้น ควบคุมวัชพืชโดยเฉพาะหญ้า โรคใบไหม้ ให้น้ำสม่ำเสมอ(สูบน้ำปล่อยกระจายไปตามร่องมันฝรั่ง) ต้นทุนการผลิตแพง รายได้ไม่สม่ำเสมอหนึ่งปีปลูกได้รอบเดียว หลังจากนั้นก็ว่างงาน
ด้าน อ.ภานุวัฒน์ บุญตาท้าว นักวิจัย ม.ราชภัฏสกลนคร กล่าวว่า ได้รับทุนการวิจัยจาก บพท. ดำเนินการโมเดลแก้จน ภายใต้แพลตฟอร์มขจัดความยากจนจังหวัดสกลนคร หลังจากลงพื้นที่ ต.โคกก่อง พบว่า ชาวบ้านปลูกมันฝรั่งเป็นอาชีพหลังนาและมีความต้องการแก้ปัญหาหลายด้าน แต่สอดคล้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ ม.ราชภัฏสกลนครมีพร้อมใช้ คือ เทคโนโลยีเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ หวังลดรายจ่ายทดแทนเครื่องสูบแบบน้ำมันไร่ละ 100 บาท และนวัตกรรมการแปรรูปมันฝรั่งที่ไม่ผ่านการคัดคุณภาพ
อ.ภานุวัฒน์ กล่าวต่อว่า นำกลุ่มเป้าหมายจาก ต.พังขว้าง และขมิ้น อ.เมืองสกลนคร มาศึกษาเรียนรู้กระบวนการปลูกมันฝรั่ง เพื่อขยายผลนำร่องปลูกมันฝรั่งภายใต้โมเดลแก้จนด้วยแนวคิด Pro-poor Value Chain คือนำคนจนเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด โดย ม.ราชภัฏสกลนคร จะสนับสนุนองค์ความรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสม