โมเดลแก้จนปลูกพริกสู้ภัยแล้ง อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร

วันที่ 11 ธันวาคม 2567 นักวิจัย มรภ.สกลนคร ทีมปฏิบัติการโมเดลแก้จน ภายใต้โครงการวิจัย “การพัฒนาและยกระดับจังหวัดสกลนครสู่พื้นที่ยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม ด้วยวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี ปี 2567” นำโดย ผศ.ดร.ก้องภพ ชาอามาตย์ รองอธิการบดีฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และคณะ จัดอบรมหลักสูตรการปลูกพริกและการจัดการภัยพิบัติแล้ง ณ หอประชุมที่ทำการปกครองอำเภอกุสุมาลย์ อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และกลุ่มเป้าหมาย เข้าร่วม 150 คน


หลังฤดูกาลทำนาชาวอำเภอกุสุมาลย์ปลูกพริกเพื่อจำหน่วยมากถึง 50 – 100 ไร่ ถือเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรพื้นที่ตำบลโพธิไพศาลและนาโพธิ์ ปีละหลาย 10,000 บาท/ครัวเรือน นิยมปลูกในช่วงเดือนตุลาคม – เมษายน ผลผลิตจำหน่ายได้ทั้งขายเมล็ดพันธุ์ ขายพริกสดมี 3 ระยะ ได้แก่ เขียว ส้ม และแดง บ้างเก็บขายเป็นพริกแห้ง ขายปลีกตามชุมชนใกล้เคียง และขายส่งให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อถึงหน้าสวน

ชาวบ้านและกลุ่มเป้าหมายจึงมีความต้องการอยากปลูกพริก จากที่นักวิจัยศึกษาข้อมูล พบว่า ในการผลิตพริกรายใหม่มีอุปสรรคและปัญหา คือ ไม่มีที่ดิน ไม่มีแหล่งน้ำ ปลูกได้แค่ฤดูกาลเดียว ขาดทักษะการปลูกพริกเพื่อจำหน่าย และยังขาดความเข้าใจกลไกการซื้อขายส่งพริก อีกทั้งอำเภอกุสุมาลย์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง แต่มีทุนสังคมที่แข็งแรงคือมีปราชญ์ชุมชนที่ความเชี่ยวชาญปลูกพริก รวมถึงการต่อลองกับตลาด สามารถจะเป็นพี่เลี้ยงได้ อย่างเช่น คุณสมศักดิ์ วระโงน ผู้ใหญ่บ้านกุดฮู หมู่ที่ 16 ต.โพธิไพศาล อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร

ทีมนักวิจัยได้เลือกแนวคิด “เกษตรแปลงรวม” ใช้เป็นปฏิบัติการโมเดลแก้จนในพื้นที่นี้ โดยมี ผศ.ดร.กิตติวัฒน์ จีบแก้ว หัวหน้าปฏิบัติการโมเดลแก้จน ออกแบบกลยุทธ์สร้างพื้นที่ต้นแบบ (แปลงรวม) ปลูกพริกครบวงจรสามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล นำผู้ได้รับผลประโยชน์ 250 ครัวเรือน ครอบคลุมทั้งอำเภอ 5 ตำบล มาอยู่ในกระบวนการปลูกแปลงรวม ซึ่งมีแนวทางในการส่งเสริมสนับสนุน ได้แก่ โรงเรือนปลูกพริก เพิ่มทักษะการปลูกพริกเพื่อจำหน่าย การบริหารจัดการน้ำ และการบริหารจัดการกลุ่ม


สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการชี้แจงการเข้าร่วมปลูกพริกแปลงรวม และอบรมเพิ่มทักษะการปลูกพริกเพื่อจำหน่าย ได้แก่ การทำดินปลูก การทำไตรโคเดอร์มา การเพาะพันธุ์ต้นกล้าพริก การปลูกพริก รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมกับอุปสรรคและสิ่งที่ต้องจัดการในระหว่างการปลูกตั้งแต่การเตรียมดิน การดูแลต้นอ่อน การใส่ปุ๋ยและดูแล การเก็บผลผลิตในระยะที่ปลอดภัย และการจัดการต้นทุน รายได้ กำไร ซึ่งมีวิทยากรจาก สนง.เกษตรอำเภอกุสุมาลย์ สนง.พัฒนาชุมชนอำเภอกุสุมาลย์ ปราชญ์ชาวบ้านด้านปลูกพริก และนักวิจัยจาก ม.ราชภัฏสกลนคร

เป้าหมายเพื่อเพิ่มทักษะการปลูกพริกด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี กลุ่มคนจน 250 ครัวเรือน มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกพริกร้อยละ 20 ได้แนวทางบริหารจัดการภัยพิบัติแล้ง และการสร้างโอกาสใหม่ในพื้นที่ภัยพิบัติแล้ง โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวง อว.