ทีมปฏิบัติการโมเดลแก้จนลงพื้นที่ติดตามการถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้เครื่องดำนา และการปักดำในแปลงต้นแบบ 20 ไร่

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2567 นักวิจัย ม.ราชภัฏสกลนคร ทีมปฏิบัติการโมเดลแก้จน นำโดย ผศ.ครองใจ โสมรักษ์ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้เครื่องดำนา และการปักดำในแปลงต้นแบบ 20 ไร่ ร่วมมือกับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสกลนคร ยกระดับการปลูกข้าวเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่าย ให้คำแนะนำการดูแลตัดพันธุ์ปนทั้ง 5 ระยะ รวมถึงเทคโนโลยีเครื่องจักรการเกษตร และรับรองคุณภาพ พร้อมทั้งรับซื้อผลผลิต ณ บ้านดงสาร ต.โพนงาม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร

ทีมเครือข่ายศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสกลนคร ได้ถ่ายทอดความรู้การดำนาและการใช้เครื่องจักร ได้แก่ การเพาะกล้า การเตรียมแปลง การปักดำ และการใช้เครื่องดำนา มีกลุ่มเป้าหมายร่วมทดลองฝึกการใช้เครื่องดำนา ซึ่งแปลงนา 1 ไร่ จะใช้ต้นกล้าประมาณ 30 ถาด และใช้เวลาปักดำประมาณ 1 ชั่วโมง สำหรับการใช้รถดำนาครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกของชาวบ้าน

การปลูกข้าวเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ แนะนำให้ทำนาแบบปักดำเนื่องจากดูแลง่ายและมีประโยชน์ คือ ลดวัชพืช เพิ่มการแตกกอ ผลผลิตได้มากขึ้น ทั้งนี้การดำนาแบบใช้เทคโนโลยีเครื่องดำนา จะช่วยลดระยะเวลาการทำงานลง ลดแรงงานคน และประหยัดแรง อีกทั้งลดระยะเวลาเพาะต้นกล้าเหลือเพียง 10-15 วัน โดยคาดการณ์จะได้ผลผลิตประมาณ 1 ตันต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 50

นี่คือการจัดสวัสดิการการเรียนรู้ เพิ่มทุนมนุษย์เกิดทักษะใหม่และยอมรับเทคโนโลยี ตระหนักเห็นความสำคัญของการแสวงหาความรู้และอยากเรียนรู้ด้วยตนเอง และนักวิจัยร่วมเรียนรู้ควบคู่ไปกับการพัฒนาท้องถิ่น


ภาพ / เรื่อง : แตงโม สกลนคร
โครงการ : การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมยกระดับการเกษตรเพื่อขจัดความยากจน อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ
ติดตามได้ที่ : Facebook , blockdit และ Onepoverty