นักวิจัย ม.ราชภัฏสกลนคร โครงการการพัฒนาและยกระดับจังหวัดสกลนครสู่พื้นที่วิจัยยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจน ฯ จัดงานส่งมอบเทคโนโลยีและมอบสิ่งของช่วยเหลือครัวเรือนเปราะบาง ร่วมกับภาคีเครือข่าย


วันที่ 28 มกราคม 2568 คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ภายใต้โครงการพัฒนาและยกระดับจังหวัดสกลนครสู่พื้นที่วิจัยยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจน และสร้างโอกาสทางสังคมด้วยวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี จัดงานถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งมอบเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร และมอบสิ่งของช่วยเหลือครัวเรือนเปราะบาง ที่บ้านโคกก่อง ตำบลโคกก่อง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร

ในงานมี นายวีรรัตน์ ธีรมิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร มาเป็นประธาน และ ผศ.ดร.ก้องภพ ชาอามาตย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร รายงานที่มาและความสำคัญของโครงการวิจัย ฯ โดยมี นายอำเภอเมืองสกลนคร เกษตรอำเภอเมืองสกลนคร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกก่อง บริษัท วาต้า ไทยเทรดดิ้ง จำกัด บริษัท สกลโฮมเซ็นเตอร์ จำกัด กรรมการกลุ่มแปลงใหญ่ปลูกมันฝรั่งบ้านโคกก่อง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา และกลุ่มครัวเรือนเป้าหมาย เข้าร่วมงาน

มหาวิทยาลัยนำเทคโนโลยีต้นแบบการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร จำนวน 2 ชุด มาส่งมอบให้กับกลุ่มแปลงใหญ่ปลูกมันฝรั่งบ้านโคกก่อง เพื่อลดค่าใช้จ่าย ทดแทนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องสูบน้ำไร่ละ 200 – 300 บาท ให้สมาชิก 100 คน ซึ่งในอนาคตมีแผนที่จะแก้ไขปัญหาด้านศัตรูพืช การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่ามันฝรั่งที่ไม่ผ่านมาตรฐานของโรงงาน

อีกทั้ง โครงการวิจัย ฯ ได้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจ (Decision Support System : DSS) ในการส่งต่อให้ความช่วยเหลือด้านสงเคราะห์ จากฐานข้อมูล พบว่า มีผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อย และผู้เปราะบาง ในบ้านโคกก่อง หมู่ที่ 2 จำนวน 10 ครัวเรือน จึงมีหน่วยงานภาคีมอบเครื่องอุปโภคบริโภคช่วยเหลือจำนวน 10 ชุด และได้รับความช่วยเหลือผ้าห่มจากบริษัท สกลโฮมเซ็นเตอร์ จำกัด จำนวน 10 ชุด เพื่อบรรเทาปัญหาในการดำรงชีพเบื้องต้น

ภายหลัง ทีมนักวิจัยและกรรมการกลุ่มแปลงใหญ่ปลูกมันฝรั่งบ้านโคกก่อง ได้แนะนำกระบวนการผลิตมันฝรั่ง องค์ความรู้เทคโนโลยีที่นำมาใช้ และผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ให้กับหน่วยงานภาคี พร้อมกับสาธิตการใช้เทคโนโลยีต้นแบบการบริหารจัดการน้ำ โดยมีนักศึกษาวิศวกรสังคม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เป็นผู้ให้ข้อมูลประโยชน์และการใช้งานเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ก้องภพ ชาอามาตย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ด้านวิจัย นวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวถึงความสำคัญของการจัดงานครั้งนี้ว่า มหาวิทยาลัยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยเลือกอำเภอเมืองสกลนครเป็นหนึ่งพื้นที่ปฏิบัติการโมเดลแก้จน โครงการอารยเกษตรแก้จนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัย เกิดการส่งเสริมอาชีพ “ปลูกมันฝรั่ง” โดยใช้แนวคิด Pro-Poor Value Chain คือ นำครัวเรือนเป้าหมายผู้มีรายได้น้อย และผู้เปราะบาง เข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่ากับกลุ่มแปลงใหญ่ปลูกมันฝรั่งบ้านโคกก่อง พัฒนาและยกระดับด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่เหมาะสมตามบริบทพื้นที่ โดยมีเป้าหมายให้ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20

ปฏิบัติการโมเดลแก้จนครั้งนี้ มีผู้ได้รับผลประโยชน์มากกว่า 200 ครัวเรือน ประกอบด้วย กลุ่มเป้าหมาย คนในพื้นที่ และผู้ประกอบการรับซื้อ ใช้องค์ความรู้ และเทคโนโลยีมากกว่า 5 อย่าง ขับเคลื่อนงานร่วมกับศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดสกลนคร และภาคีเครือข่ายตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 45 หน่วยงาน เมื่อปี พ.ศ. 2567


ข่าว :  แตงโม สกลนคร

ภาพ :  ประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

โครงการวิจัย : อารยเกษตรแก้จนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัย