มรสน. ร่วมกับ วช. กอ.รมน. และ มรภ.นครปฐม ส่งมอบนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและยกระดับผลผลิตทางการเกษตร ชุมชนสังคม

วันที่ 12 กรกฎาคม 2568 ณ ศูนย์ยุติธรรมชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแร่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม จัดกิจกรรม “พิธีส่งมอบนวัตกรรมในโครงการการแก้ปัญหาภัยแล้งและยกระดับผลผลิตทางการเกษตรชุมชนสังคม ตำบลดอนแร่” เพื่อใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน

ในพิธีได้รับเกียรติจาก นางสาวเสาวนีย์ มุ่งสุจริตการ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และพลตรี ศรุต สีเหนี่ยง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กอ.รมน. ร่วมเป็นประธานในพิธี โดยมี นายจำนงค์ จันทร์วงค์ ปลัดอำเภอเมืองราชบุรี ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ก้องภพ ชาอามาตย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร หัวหน้าโครงการ กล่าวรายงานภาพรวมโครงการ

กิจกรรมครั้งนี้เป็นผลจากการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานด้านความมั่นคง แหล่งทุนวิจัย และสถาบันอุดมศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ตำบลดอนแร่ ซึ่งประสบปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนทรัพยากรน้ำ ผ่านการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยและนวัตกรรม

ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ในการดำเนินโครงการ และร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม เพื่อพัฒนานวัตกรรมต้นแบบจำนวน 9 รายการ เพื่อส่งมอบให้แก่ชุมชน ได้แก่:

  1. รถเข็นสูบน้ำพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์แบบมัลติฟังก์ชัน
  2. รถเข็นสูบน้ำพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดท่อ 3 นิ้ว
  3. สถานีสูบน้ำพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์
  4. เครื่องอัดภาชนะจากวัสดุธรรมชาติ
  5. เครื่องอัดกระถางจากมูลหมูหลุม
  6. เครื่องจักตอกจากไม้ไผ่
  7. การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชน
  8. แผนการตลาดและโลจิสติกส์ของชุมชน
  9. คู่มือการใช้งานนวัตกรรม

นวัตกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ชุมชนสามารถจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เสริมศักยภาพการผลิตทางการเกษตร ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

โครงการนี้ถือเป็นตัวอย่างของการดำเนินงานเชิงพื้นที่ที่ใช้พลังของ “วิจัยและนวัตกรรม” เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่น ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครในการเป็น “มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” อย่างแท้จริง