ข้อควรระวัง หากส่งบทความวิจัยไปตีพิมพ์ในวารสารประเภท Open Access
รุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล * (ruchareka.wit@mahidol.ac.th)
30 เมษายน 2555
Open Access (OA) คืออะไร
โลกในปัจจุบันนี้เรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยแห่งอินเทอร์เน็ต เราจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่าวารสารทางวิชาการส่วนใหญ่ซึ่งเคยผลิตและเผยแพร่ในรูปแบบตัวเล่มสิ่งพิมพ์เพียงอย่างเดียว ได้หันมานิยมจัดทำในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากมีความสะดวกสบายในการสืบค้น การใช้งาน และการจัดเก็บ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโดยหลักการแล้วค่าบอกรับวารสารออนไลน์ควรมีราคาที่ถูกกว่าตัวเล่ม แต่ด้วยเงื่อนไขทางธุรกิจกลับทำให้ค่าบอกรับวารสารของห้องสมุดหรือหอสมุดสถาบันการศึกษาต่างๆยังคงมีราคาที่สูงมาก เนื่องจากสำนักพิมพ์วารสารขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง มีกลยุทธ์ที่จะผลักดันให้เปลี่ยนวิธีการบอกรับวารสาร จากการเลือกเฉพาะบางชื่อที่ต้องการ เป็นการบอกรับในลักษณะ bundle sales system ซึ่งเป็นกลุ่มวารสารหรือวารสารทุกชื่อทั้งสำนักพิมพ์ ดังนั้น ปัจจุบันห้องสมุดทั่วโลกจึงยังคงประสบปัญหาในเรื่องงบประมาณการบอกรับวารสารอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อแวดวงวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา
ด้วยสาเหตุนี้เอง ทำให้เริ่มเกิดกระแสการประท้วงและต่อต้านการกระทำของสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่บางแห่ง จนกระทั่งเป็นที่มาของการเกิดธุรกิจวารสารรูปแบบใหม่ เปลี่ยนจากรูปแบบดั้งเดิมที่ผู้อ่านจะต้องเสียค่าบอกรับเป็นสมาชิกวารสารส่วนบุคคลหรือห้องสมุดบอกรับวารสารในนามสถาบัน (institutional subscription) ผู้แต่งมักไม่เสียค่าตีพิมพ์แต่ลิขสิทธิ์ของบทความจะต้องตกเป็นของสำนักพิมพ์ มาเป็นรูปแบบใหม่คือ Open Access (OA) ชนิด author-pays model ผู้แต่งบทความเป็นผู้จ่ายค่าตีพิมพ์ ส่วนผู้อ่านสามารถนำไปใช้ได้ฟรีโดยไม่ต้องบอกรับและไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องอ้างอิงแหล่งที่มาภายใต้ลิขสิทธิ์แบบ Creative Commons (CC-BY license) ทั้งนี้ด้วยแนวคิดที่เริ่มต้นมาจากความพยายามแก้ไขปัญหาค่าบอกรับวารสารที่มีราคาแพงเนื่องจากการผูกขาดของสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่บางแห่ง สำนักพิมพ์ OA ที่เกิดขึ้นในยุคแรกๆและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบันได้แก่ Public Library of Science (PloS) และ BioMed Central (BC) ต่อมาธุรกิจวารสารแบบ author-pays model เริ่มได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น จนทำให้เกิดสำนักพิมพ์ OA หน้าใหม่ผุดขึ้นบนอินเทอร์เน็ตจำนวนมากมาย และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต
สำนักพิมพ์ Open Access (OA) บางแห่ง ดำเนินธุรกิจด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม
การดำเนินธุรกิจของสำนักพิมพ์วารสารไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ subscription-based หรือ author fee-based ก็ตาม ล้วนมีทั้งข้อดีข้อเสียด้วยกันทั้งสิ้น วารสารแบบ subscription-based ที่ผลิตโดยสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงโดยทั่วไปมักมีคุณภาพสูงเป็นที่ยอมรับ แต่ราคาแพงมากโดยเฉพาะถ้าห้องสมุดบอกรับในนามสถาบัน ในขณะที่วารสารแบบ author fee-based ผลิตได้ง่ายกว่าเนื่องจากเป็น online only และอ่านได้ฟรีโดยไม่จำเป็นต้องบอกรับ ทำให้มีสำนักพิมพ์ OA เกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก ข้อเสียคือมีสำนักพิมพ์บางแห่งที่แสวงหาผลกำไรจากการคิดค่าตีพิมพ์จากนักวิจัยในราคาแพง แต่ละเลยคุณภาพการผลิต ไม่ควบคุมมาตรฐานทางวิชาการ ทำการตลาดแบบ direct marketing ซึ่งบางครั้งนักวิจัยอาจไม่รู้เท่าทัน เนื่องจากไม่เข้าใจวิธีการดำเนินธุรกิจของสำนักพิมพ์มาก่อน ขณะนี้มักปรากฎเป็นข่าวบ่อยครั้งว่าสำนักพิมพ์ OA หลายแห่งที่เกิดขึ้นมาใหม่บนอินเทอร์เน็ตและไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในแวดวงวิชาการ ดำเนินธุรกิจแบบผิดจรรยาบรรณ ประสงค์จะค้ากำไรจากค่าตีพิมพ์โดยไม่ควบคุมคุณภาพทางวิชาการอย่างเข้มข้นเพียงพอ และใช้วิธีการที่ไม่พึงประสงค์ ทำให้ระบบ OA โดยรวมเสียชื่อเสียง ตัวอย่างเช่น
- ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ไปยังกลุ่มนักวิจัยเพื่อชักชวนให้ส่งบทความไปตีพิมพ์ ร่วมเป็นกองบรรณาธิการ หรือรับเป็นผู้ประเมินบทความ (reviewer) แต่กระทำการในลักษณะ Email Spam หรืออีเมลขยะ (junk email) และเมื่อนักวิจัยรับเป็นกองบรรณาธิการและมีรายชื่อปรากฎบนเว็บไซต์แล้ว กลับไม่เคยได้รับการติดต่อให้ปฏิบัติหน้าที่บรรณาธิการหรือผู้ประเมินบทความแต่อย่างใด
- ยอมรับบทความให้ตีพิมพ์ได้ง่ายและใช้เวลารวดเร็วเกินไป เช่น ใช้เวลาเพียง 1-2 สัปดาห์ มีพฤติกรรมที่น่าสงสัยว่าในทางปฏิบัติ วารสารนั้นมีกระบวนการ peer review อย่างแท้จริงหรือไม่ มีการเร่งตีพิมพ์บทความโดยไม่แก้ไขเนื้อหาตามที่ผู้ประเมินให้คำแนะนำ นอกจากนั้น สำนักพิมพ์บางแห่งอาจแสดงพฤติกรรมทางการค้าอย่างโจ่งแจ้ง เช่น ส่งอีเมลแจ้งราคาค่าตีพิมพ์ให้ทราบในภายหลังโดยไม่ประกาศล่วงหน้าบนเว็บไซต์ หรือประกาศว่าถ้าผู้แต่งจ่ายค่าตีพิมพ์ติดต่อกันหลายบทความ จะมีสิทธิตีพิมพ์บทความต่อไปได้ฟรี เป็นต้น
- บนเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ ไม่ระบุสถานที่ตั้งของสำนักงานที่ชัดเจน ที่อยู่สำหรับการติดต่อไม่ครบถ้วน หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อไม่ได้ บางแห่งแจ้งไว้เพียงอีเมลเท่านั้น มักเป็นสำนักพิมพ์เปิดใหม่ในลักษณะ online only บนอินเทอร์เน็ต เพิ่งเริ่มผลิตวารสารภายในระยะเวลาเพียง 1-2 ปี และส่วนใหญ่มาจากประเทศแถบตะวันออกกลาง แอฟริกา หรือเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ปากีสถาน (อาจเนื่องมาจากค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าในยุโรปและอเมริกา)
- มีการอ้างว่าวารสารได้รับการทำดัชนี (indexed) ในฐานข้อมูลต่างๆเพื่อสร้างการยอมรับ แต่ความจริงแล้ว ฐานข้อมูลต่างๆบนอินเทอร์เน็ตไม่ได้เป็นฐานข้อมูลทางวิชาการ ที่มีเกณฑ์ในการคัดเลือกวารสารเฉพาะที่มีคุณภาพเสมอไป แต่เป็นเพียง search engine หรือเป็นแหล่งรวบรวมรายชื่อวารสารเท่านั้น ตัวอย่างเช่น Google Scholar, DOAJ (Directory of Open Access Journals) ในปัจจุบันสำนักพิมพ์ Open Access บางแห่งมีความพยายามที่จะปรับปรุงคุณภาพ เพื่อให้ได้รับการทำดัชนีและเข้าไปอยู่ในฐานข้อมูลสากลซึ่งเป็นที่ยอมรับ เช่น Web of Science, Scopus แต่จะประสบความสำเร็จได้จำเป็นต้องใช้เวลาหลายปี ดังนั้น สำหรับสำนักพิมพ์หน้าใหม่ (brand-new) อายุก่อตั้งเพียง 1-2 ปี จึงควรจับตาและติดตามตรวจสอบการดำเนินงาน ก่อนที่จะตัดสินใจส่งบทความไปตีพิมพ์
สำนักพิมพ์ Open Access (OA) ที่ดีมีลักษณะเป็นอย่างไร
สำนักพิมพ์วารสารที่ดีควรปฏิบัติตามจรรยาบรรณ กล่าวคือ มี peer review policy ที่เข้มข้น ภายใต้การควบคุมของกองบรรรณาธิการที่มีคุณภาพ กองบรรรณาธิการประกอบด้วยนักวิจัยที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงการ มีขั้นตอนการบรรณาธิกรที่ได้มาตรฐาน มีการอ้างอิงองค์กรสากลต่างๆ ที่กำกับดูแลและควบคุมมาตรฐาน เช่น เป็นสมาชิกสมาคม Open Access Scholarly Publishers Association (OASPA) ปฏิบัติตามมาตรฐานจรรยาบรรณของ COPE (Committee on Publication Ethics) หรือ WAME (World Association of Medical Editors) หรือ International Association of Scientific, Technical & Medical Publishers (STM) เป็นสมาชิกของ CrossRef เพื่อกำหนดรหัส DOI (Digital Object Identifier) ให้แก่บทความทุกชิ้นเพื่อการอ้างอิงตำแหน่งที่อยู่ของบทความบนอินเทอร์เน็ตอย่างถาวร มีกระบวนการจัดเก็บวารสารย้อนหลังอย่างเป็นระบบ เพื่อรับประกันไม่ให้สูญหายไปจากอินเทอร์เน็ต เช่น ใช้เทคโนโลยี LOCKSS (Lots of Copies Keep Stuff Safe) มีการแจ้งอัตราค่าธรรมเนียมในการตีพิมพ์บทความและมีคู่มือ instruction for authors ที่ชัดเจนโปร่งใส หากมีการทำการตลาดแบบ direct marketing เช่นส่งอีเมลต้องทำด้วยความเหมาะสมและไม่ก่อความรำคาญให้แก่ผู้รับ วารสารปรากฎอยู่ในฐานข้อมูลสากลซึ่งมีกระบวนการคัดเลือกวารสารที่มีคุณภาพ เช่น Web of Science, Scopus เป็นต้น ดังนั้น การพิจารณาว่าสำนักพิมพ์ Open Access นั้นมีมาตรฐานหรือไม่ ต้องใช้เกณฑ์ต่างๆประกอบกัน
ปัจจุบันสำนักพิมพ์ Open Access ขนาดใหญ่หลายแห่งมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ เช่น BiomedCentral (BMC), Public Library of Science (PloS) แต่บางสำนักพิมพ์ยังมีข้อกังขาถึงวิธีการดำเนินธุรกิจ ซึ่งต้องใช้เวลาในการจับตาดูต่อไป
อนึ่ง วารสารประเภท OA ที่มีจำนวนมากมายบนอินเทอร์เน็ตนั้น นอกจากจะเป็นสำนักพิมพ์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็น OA Publisher โดยเฉพาะแล้ว สำนักพิมพ์แบบดั้งเดิมที่มีชื่อเสียง เช่น Elsevier, Springer, Wiley, Nature, BMJ, SAGE, Taylor and Francis ฯลฯ ปัจจุบันเริ่มเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจและหันมาเปิด Open Access Choice ด้วยวิธีการต่างๆ ด้วยเช่นกัน เช่น แยกสาขาของสำนักพิมพ์ออกมาเป็น OA โดยเฉพาะ ซื้อกิจการสำนักพิมพ์ OA ที่มีอยู่แล้ว (เช่น Springer ซื้อ BMC) ผลิตวารสารใหม่บางชื่อออกมาในลักษณะ Open อย่างเต็มรูปแบบที่เรียกว่า Gold OA หรืออาจใช้วิธีลูกผสมที่เรียกว่า hybrid OA คือเป็นวารสาร subscription-based แบบดั้งเดิม แต่จะ Open เฉพาะบางบทความที่ผู้แต่งจ่ายค่า article processing charge (APC) เพิ่มเติมให้แก่ทางสำนักพิมพ์ เป็นต้น วารสาร OA เหล่านี้แม้อาศัยชื่อเสียงของสำนักพิมพ์ที่มีอยู่เดิม แต่จำเป็นต้องควบคุมคุณภาพการผลิตและมาตรฐานของกระบวนการ peer review ให้คงเดิมด้วยเช่นกัน
รายชื่อสำนักพิมพ์ Open Access (OA) ที่ดำเนินธุรกิจด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม หาได้ที่ไหน
Jeffrey Beall บรรณารักษ์ของมหาวิทยาลัย Colorado Denver ได้เขียนบทความ “Beall’s List of Predatory, Open-Access Publishers” วิจารณ์สำนักพิมพ์ประเภท Open Access ที่มีพฤติกรรมเหมือนนักล่าเหยื่อ(http://metadata.posterous.com/83235355) นอกจากนั้นยังได้เขียนบล็อกที่มีชื่อว่า Scholarly Open Access (http://scholarlyoa.com) เพื่อเฝ้าติดตามวิธีการดำเนินงานของสำนักพิมพ์ OA อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และร่วมวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง
Jeffrey Beall ได้แนะนำรายชื่อสำนักพิมพ์ที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น Academic Journals, Inc., ANSINetwork, Bentham Open, David Publishing, Dove Press, GlobalOpenJournals.org, iConcept Press, OMICS Publishing Group, Science Publications, World Science Publisher เป็นต้น และบางแห่งยังคงต้องเฝ้าจับตา (Watchlist) ได้แก่ Hindawi, MedKnow Publications, PAGEPress, Versita Open โดยจะมีการเฝ้าระวังและปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรายชื่อเป็นระยะ แหล่งความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ อีกแห่งหนึ่งคือ Blog ที่มีชื่อว่า Open and Shut? ของ Richard Poynder
ข้อควรระวังสำหรับนักวิจัย
นักวิจัยส่วนใหญ่นิยมอ่านบทความจากวารสาร OA เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบอกรับ แต่หากประสงค์จะตีพิมพ์ในวารสาร OA ควรเพิ่มความระมัดระวัง เนื่องจากวารสาร OA ที่ไม่ได้มาตรฐานมีจำนวนมากและยังคงเป็นปัญหาที่ต้องการเวลาในการพัฒนา นักวิจัยควรพยายามเลือกที่จะตีพิมพ์ในวารสารซึ่งเป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้นๆ และมีคุณภาพดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ไม่ว่าจะเป็นวารสารแบบ subscription-based หรือแบบ OA) เพราะหากพลั้งเผลอไปตีพิมพ์ในวารสารที่ขาดการควบคุมคุณภาพ เป็นสำนักพิมพ์ที่หวังผลทางการค้าแต่ไม่มีมาตรฐานในการดำเนินงาน อาจทำให้ตัวนักวิจัยได้รับความเดือดร้อนในภายหลัง ดังเช่น เคยเกิดกรณีสำนักพิมพ์นำบทความที่เคยตีพิมพ์ไปแล้วกลับมาพิมพ์ซ้ำอีก ทำให้เข้าข่าย duplicate publication โดยไม่เจตนา และเจ้าของบทความจำเป็นต้องไปแจ้งขอถอดถอนบทความที่ซ้ำออกจากวารสารนั้น ทำให้เสียเวลายุ่งยาก หรือในกรณีที่สำนักพิมพ์ Bentham Open เคยตกเป็นข่าวอื้อฉาว จากการรับเงินค่าตีพิมพ์จาก Philip Davis นักศึกษาปริญญาเอกมหาวิทยาลัยคอร์แนล ในอัตรา $800 เพื่อตีพิมพ์ต้นฉบับเรื่อง “Deconstructing Access Points” ลงในวารสาร The Open Information Science Journal ฉบับวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 2009 ทั้งๆที่บทความนี้ถูกสร้างขึ้นโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ SCIgen โดยที่ไม่ได้เขียนขึ้นจริงและใช้ชื่อ-ที่อยู่ปลอม แสดงถึงความไม่มีกระบวนการ peer review ตามที่อ้างไว้ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้สร้างความเสียชื่อเสียงให้แก่ผู้เป็นบรรณาธิการวารสารจนต้องลาออก (http://classic.the-scientist.com/blog/display/55759/)
ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้วารสารส่วนใหญ่รวมทั้งประวัติการตีพิมพ์ผลงานของนักวิจัยเป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ สามารถสืบค้นและตรวจสอบได้อย่างง่ายดาย ดังนั้น นักวิจัยจึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการคัดเลือกสำนักพิมพ์วารสารที่ใช้ในการนำเสนอผลงาน ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประวัติของตัวนักวิจัยเอง หากต้องนำผลงานตีพิมพ์ไปใช้ประโยชน์เพื่อความก้าวหน้าในชีวิตการทำงาน เช่น การจบการศึกษา การสมัครงาน การประเมินผลงานทางวิชาการ การขอทุนวิจัย หรือขอรับรางวัลทั้งในและต่างประเทศ ที่อาจมีขึ้นในอนาคต
* นักเอกสารสนเทศ ชำนาญการ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ /
กรรมการวิชาการบัณฑิตศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล[ download PDF ]
บทความจาก บัณฑิตศึกษาสารสนเทศ ปีที่ 23 ฉบับที่ 192 เดือนพฤษภาคม 2555