ประกาศรับข้อเสนอโครงการวิจัยประจำปี 2561
“ทุนพัฒนานักวิจัยสู่ตำแหน่งวิชาการเพื่อชุมชนและสังคม”
1. หลักการและเหตุผล
การวิจัยและพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความรู้และนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาในระดับฐานราก สร้างศักยภาพให้กับพื้นที่เพื่อพร้อมรับและรุกกับการเปลี่ยนแปลง การเข้าใจศักยภาพและข้อจำกัดของพื้นที่จะช่วยให้ออกแบบนโยบายการพัฒนาในระดับประเทศให้ดีขึ้น เพื่อให้สังคมก้าวไปข้างหน้าและเติบโตอย่างมีส่วนร่วมและทั่วถึง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ มูลนิธิมั่นพัฒนา โดยการสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น และความสำคัญของการพัฒนาอาจารย์และนักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาในการทำงานวิจัยให้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนและสังคมได้ พร้อมไปกับการเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน สกอ. เพื่อสร้าง “นักวิชาการรับใช้สังคม” ตามประกาศ ก.พ.อ. ปี 2556 (เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ.2556) จึงจัดให้มีโครงการ “การพัฒนานักวิจัยและระบบสนับสนุนนักวิจัยเพื่อชุมชนและสังคม” ขึ้น และโครงการนำร่องปี 2560 นั้น จัดสรรทุนสนับสนุนนักวิจัยภายใต้ชื่อ “ทุนพัฒนานักวิจัยสู่ตำแหน่งวิชาการเพื่อชุมชนและสังคม” ได้รับความสนใจจากนักวิชาการอย่างกว้างขวาง และเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สกว. เห็นควรจัดสรร “ทุนพัฒนานักวิจัยสู่ตำแหน่งวิชาการเพื่อชุมชนและสังคม” รุ่นที่ 2 สำหรับปีงบประมาณ 2561 ดังรายละเอียดต่อไปนี้
2. วัตถุประสงค์
- เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่ ให้นำโจทย์จากชุมชน/สังคมเป็นเป้าหมายของการทำงานวิจัย เพื่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อผู้ใช้ผลงานวิจัย รวมทั้งได้ผลิตผลงานวิชาการในระดับที่สูงขึ้น เพื่อใช้ประกอบการเสนอผลงานทางวิชาการของนักวิจัย
- เพื่อพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ให้มีศักยภาพทำงานวิจัยเพื่อสังคม โดยมีระบบพี่เลี้ยง
- เพื่อส่งเสริมนักวิจัยเชิงพื้นที่ หรือนักวิจัยที่มีประสบการณ์ทำงานวิจัยเพื่อชุมชนและสังคม สร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพเชิงลึก และสามารถตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการ
- เพื่อสร้างผลงานวิจัยเพื่อชุมชน/สังคม ที่มีคุณภาพตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติและนานาชาติ
3. ขอบเขตการวิจัยที่สนับสนุน
ขอบเขตของงานวิจัยในปี 2561 เน้น “เศรษฐกิจชุมชนชนบทและชุมชนเมือง” ซึ่งหมายถึง งานวิจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของชุมชนเป้าหมายในชนบทและชุมชนเป้าหมายในเมือง โดยครอบคลุมสาขาวิชา วิทยาศาสตร์ / เทคโนโลยี / เศรษฐศาสตร์ / บริหารธุรกิจ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
4. ลักษณะโครงการที่เสนอขอรับทุน
- เป็นโครงการที่มีการตั้งโจทย์และประเด็นวิจัยโดยชุมชนมีส่วนร่วม และชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานวิจัย ทั้งนี้ เพื่อให้ผลงานวิจัยตอบสนองความต้องการของชุมชน/สังคม
- หัวข้อวิจัยมีความชัดเจน มีการสำรวจสถานภาพชุมชน/สังคม สถานภาพความรู้ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ถ้าเป็นงานวิจัยที่ทำซ้ำกับหัวข้อที่มีผู้วิจัยแล้ว จะต้องเป็นงานที่ต่อยอด หรือเพื่อยืนยันองค์ความรู้เดิม หรือขยายผลสู่ชุมชน/สังคมแห่งใหม่ภายใต้บริบทที่แตกต่างไปจากเดิม
- เป็นโครงการวิจัยที่ผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานต้นสังกัดของผู้เสนอขอรับทุน
- ผลงานวิจัยที่ได้ต้องสามารถตีพิมพ์ในวารสารในฐาน TCI หรือตามเกณฑ์ ก.พ.อ. โดยผู้รับทุนจะเป็นชื่อแรก และ/หรือเป็นผู้วิจัยหลัก หรือเป็นนักวิจัยโต้ตอบ (corresponding author)
ผลงานวิชาการ ตามเกณฑ์ ก.พ.อ. ฉบับ 9 พ.ศ. 2556 ประกอบด้วยสาระ
- สภาพการณ์ก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
- การมีส่วนร่วมและการยอมรับของสังคมเป้าหมาย
- กระบวนการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
- ความรู้ความเชื่ยวชาญที่ใช้ในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น
- การคาดการณ์สิ่งที่จะตามมาหลังจากการเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้ว
- การประเมินผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
- แนวทางการติดตามและธำรงรักษาพัฒนาการที่เกิดขึ้นในคงอยู่ต่อไป
5. วงเงินสนับสนุน
ผู้เสนอขอรับทุน สามารถเลือกเสนอของบประมาณ ตามรูปแบบการรับทุนดังนี้
1) ทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่
- ให้การสนับสนุนในการดำเนินการวิจัยโครงการละไม่เกิน 200,000 บาท ระยะเวลารับทุน 12 เดือน
- ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ ผู้ได้รับทุนจะได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการอบรม/ประชุมเชิงปฏิบัติการ/การให้คำปรึกษา (training & coaching) เพื่อพัฒนานักวิจัยเพื่อชุมชนและสังคมอย่างเข้มข้น
- การสนับสนุนการนำเสนอผลงานในประเทศ/ต่างประเทศหากได้รับการตอบรับจากผู้จัด และกรรมการ สกว. เห็นชอบในคุณภาพของผลงาน
2) ทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นกลาง (กลุ่มนักวิจัย)
- ให้การสนับสนุนในการดำเนินการวิจัยโครงการละไม่เกิน 1,000,000 บาท ระยะเวลารับทุน 12 เดือน
- ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ ผู้ได้รับทุนจะได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการอบรม/ประชุมเชิงปฏิบัติการ/การให้คำปรึกษา (training & coaching) เพื่อพัฒนานักวิจัยเพื่อชุมชนและสังคมอย่างเข้มข้น
- การสนับสนุนการนำเสนอผลงานในประเทศ/ต่างประเทศหากได้รับการตอบรับจากผู้จัด และผู้ทรงคุณวุฒิ สกว. เห็นชอบในคุณภาพของผลงาน
3) ทุนพัฒนาการเขียนบทความวิจัยเชิงพื้นที่
- ให้การสนับสนุนในการดำเนินการโครงการละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลารับทุน 6 เดือน
- ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ ผู้ได้รับทุนสามารถขอเข้าร่วมเรียนรู้กระบวนการเพื่อพัฒนานักวิจัยเพื่อชุมชนและสังคมอย่างเข้มข้น หรือขอคำปรึกษา (coaching)
- การสนับสนุนการนำเสนอผลงานในประเทศ/ต่างประเทศหากได้รับการตอบรับจากผู้จัด และผู้ทรงคุณวุฒิ สกว. เห็นชอบในคุณภาพของผลงาน
6. คุณสมบัติของผู้รับทุน ผลลัพธ์ที่คาดหวัง
ลักษณะของทุน | คุณสมบัติผู้รับทุน / เงื่อนไข | ผลผลิต/ผลลัพธ์ที่คาดหวัง |
---|---|---|
1. ทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ (นักวิจัยเดี่ยวหรือกลุ่ม) | (1) นักวิจัยหลักจบ ปริญญาเอกไม่เกิน 5 ปี (2) นักวิจัยหลักมีบทความวิชาการอย่างน้อย 1 เรื่อง (3) โครงการที่เสนอขอรับทุนมีลักษณะโครงการตามข้อ 4 |
(1) ได้บทความวิชาการอย่างน้อย 1 เรื่องตีพิมพ์ในฐาน TCI หรือ ตามเกณฑ์ ก.พ.อ. พร้อมรายงานฉบับสมบูรณ์ |
2. ทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นกลาง (กลุ่มวิจัย) | (1) นักวิจัยหลักมีบทความวิชาการอย่างน้อย 2 เรื่อง (2) โครงการที่เสนอขอรับทุนมีลักษณะโครงการตามข้อ 4 |
(1) ได้บทความวิชาการอย่างน้อย 1 เรื่องตีพิมพ์ในฐาน TCI หรือ ตามเกณฑ์ ก.พ.อ. พร้อมรายงานฉบับสมบูรณ์ (2) ได้นักวิจัยหลักที่มีศักยภาพเป็น Mentor /Reviewer (3) ได้นักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ |
3. ทุนพัฒนาการเขียนบทความวิจัยเชิงพื้นที่ | (1) นักวิจัยมีประสบการณ์ทำงานวิจัยเชิงพื้นที่หรือชุมชน มีรายงานการวิจัยเชิงพื้นที่ไม่น้อยกว่า 3 เรื่อง แต่ไม่มีบทความวิชาการเชิงพื้นที่ หรือประสงค์จะพัฒนาการผลิตบทความวิชาการเชิงลึก (2) ส่งบทคัดย่อโครงการ 3 เรื่อง พร้อมรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ตามข้อ (1) ที่ดีที่สุด จำนวน 1 เรื่อง ซึ่งเป็นผลงานที่มี ผลลัพธ์หรือผลกระทบเชิงพื้นที่ (3) มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า ผลงานตามข้อ (2) มีผลลัพธ์หรือผลกระทบเชิงพื้นที่ (4) หากโครงการตามข้อ (2) เป็นโครงการวิจัยร่วม จำเป็นต้องมีจดหมายอนุญาตการนำผลงานมาใช้เขียนบทความจากผู้ร่วมวิจัย |
(1) ได้บทความวิชาการอย่างน้อย 1 เรื่องตีพิมพ์ในฐาน TCI หรือ ตามเกณฑ์ ก.พ.อ. (2) ได้นักวิจัยเชิงพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเขียนบทความ วิชาการ และมีศักยภาพเป็น Mentor /Reviewer |
7. การเสนอโครงการ
ผู้สนใจเสนอโครงการสามารถเลือกเสนอของบประมาณ ตามรูปแบบการรับทุนที่กำหนด โปรดส่งเอกสารเป็นข้อเสนอโครงการ ที่ได้รับการลงนามจากหน่วยงานต้นสังกัด และการลงนามของตัวแทนชุมชน/สังคมเป้าหมาย โดยมีรายละเอียดต่างๆ ดังต่อไปนี้
- ชื่อโครงการ/หัวข้อการวิจัย (ทั้งไทยและอังกฤษ)
- ชื่อหัวหน้าโครงการและนักวิจัยร่วม (กรณีกลุ่มนักวิจัยรุ่นกลาง) ต้นสังกัด และที่ปรึกษาโครงการ (ถ้ามี) พร้อมลงนาม
- สถานที่ติดต่อทางจดหมาย โทรศัพท์ โทรสาร และ E-mail address
- ที่มา/ความสำคัญของปัญหาการวิจัย
- โจทย์วิจัยจากพื้นที่เป้าหมายโดยชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดโจทย์
- วัตถุประสงค์ของการวิจัยพร้อมคำถามวิจัย
- พื้นที่เป้าหมายของการวิจัย
- ทบทวนแนวคิดเชิงทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโจทย์วิจัย
- ระเบียบวิธีการวิจัย รวมถึงกรอบแนวคิดเชิงทฤษฎีและการวิเคราะห์ (theoretical and analytical framework) และวิธีการทำงานตลอดจนการมีส่วนร่วมของชุมชน
- ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินงานวิจัย
- งบประมาณโครงการวิจัย
- ประวัติคณะวิจัย (การศึกษา การทำงาน ประสบการณ์ในการวิจัย ผลงานวิชาการ)
8. กำหนดการรับข้อเสนอโครงการ
ผู้สนใจสามารถส่งข้อเสนอโครงการ ได้ตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2560 โดยส่งมายัง โครงการ “การพัฒนานักวิจัยและระบบสนับสนุนนักวิจัยเพื่อชุมชนและสังคม” (อ.ดร.พิมพิมล แก้วมณี) ที่อยู่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เลขที่ 63 หมู่ 4 ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 3 ชุด พร้อมแผ่นบันทึกข้อมูล (ไฟล์ word และ PDF) โทรศัพท์ 08-1473-4818 (อ.ดร. พิมพิมล แก้วมณี) Email address: pimkaewmanee@gmail.com
ประกาศ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2560
ศาสตราจารย์นายแพทย์ สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศผู้อำนวยการ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย