การประเมินฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ของผ้าย้อมคราม Evaluation of Antimicrobial Activity of Indigo Dyed Fabrics


นักวิจัย : ดร.แก้วกัลยา โสตถิสวัสดิ์
คณะวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร


แนวคิดที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้


      สกลนครเป็นจังหวัดแรกในประเทศไทยที่มีการฟื้นฟูองค์ความรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้านเกี่ยวกับการผลิตผ้าย้อมคราม โดยมีกลุ่มย้อมครามในจังหวัดสกลนครมากกว่า 60 กลุ่ม ที่มุ่งผลิตผ้าย้อมครามในรูปแบบและลวดลายต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมสวมใส่ ซึ่งปัจจุบันจังหวัดสกลนครถือเป็นแหล่งผลิตผ้าย้อมครามและผ้าทอมือที่มีคุณภาพและปริมาณมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งนอกจากมีความสวยงามและสวมใส่สบายแล้ว ผ้าย้อมครามยังมีคุณสมบัติในการดูดกลืนทั้งแสงแดดและรังสียูวี (Ultraviolet, UV) ได้ดี และมีรายงานวิจัยที่ระบุว่าสารสกัดหยาบจากคราม เนื้อคราม และนํ้าย้อมครามสามารถยับยั้ง Bacillus subtilis ได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้วิจัยได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาคุณสมบัติการต้านจุลินทรีย์ของผ้าย้อมครามที่ผลิตขึ้นจากกลุ่มชุมชนในจังหวัดสกลนคร เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามในการต้านจุลินทรีย์ทั้งกลุ่มเชื้อประจำถิ่น (Normal flora) บนผิวหนังและ/หรือกลุ่มที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนังได้โดยตรง รวมถึงการศึกษาปัจจัยบางประการ ได้แก่ ความชื้น และค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ของผ้าย้อมครามที่มีผลต่อการเจริญของจุลินทรีย์

 


ผลการดำเนินงาน

จากการลงพื้นที่สำรวจแหล่งผลิตและจำหน่ายผ้าย้อมครามในพื้นที่จังหวัดสกลนครทั้งหมด 7 กลุ่มชุมชน (แหล่ง) คือ กลุ่มหมี่ครามน้ำหนึ่ง (ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าครองวิถี กลุ่มแม่บ้านบ้านม่วงคำ (ตำบลนาตาล) นครถ้ำเต่า (ผู้ใหญ่สุ่ม) กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้าบ้านสามัคคีหมู่ที่ 9 ร้านเฮือนนางคราม และถนนผ้าคราม เพื่อเก็บตัวอย่างผ้าย้อมครามที่มีลักษณะที่แตกต่างกันตามวิธีการย้อม ชนิดผ้าฝ้ายและลักษณะการทอ จำนวนทั้งหมด 16 ตัวอย่าง


ผลการศึกษาฤทธิ์ต้านแบคทีเรียด้วยวิธี Agar diffusion plate test และวิธีมาตรฐาน AATCC Test Method 100-2004 แสดงให้เห็นว่าผ้าย้อมครามทุกตัวอย่างสามารถยับยั้งการเจริญของ S. aureus TISTR 746, B. cereus TISTR 1577 และ E. coli TISTR 073 ได้ในระดับที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะผลการทดสอบฤทธิ์ต้านแบคทีเรียตามมาตรฐาน AATCC Test Method 100-2004 พบว่าผ้าย้อมครามธรรมชาติรหัส A3-1 สามารถยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียทั้ง 3 สายพันธุ์ ได้สูงมากที่สุด รองลงมาคือผ้าย้อมครามธรรมชาติรหัส A2-2 สำหรับผลการต้านยีสต์และราของผ้าย้อมครามนั้นพบว่า มีผ้าย้อมครามเพียง 12 ตัวอย่างเท่านั้นที่สามารถยับยั้งยีสต์ Candida sp. TISTR 5070 ได้ ในขณะที่ผ้าย้อมครามทุกรหัสไม่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของ Aspergillus sp. TISTR 3334 บนอาหาร SDA ได้ สำหรับการศึกษาผลของความชื้น และค่า pH ของผ้าย้อมครามธรรมชาติรหัส A3-1 และ A2-2 ที่มีต่อการเจริญของ S. aureus TISTR 746 และ E. coli TISTR 073 พบว่า ที่ระดับความชื้นที่เพิ่มสูงขึ้นในผ้าย้อมครามมีผลทำให้ประสิทธิภาพการยับยั้งแบคทีเรียทั้งสองสายพันธุ์ลดลง ในขณะที่ผ้าย้อมครามที่มีค่า pH 3.0 พบว่าสามารถยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียทั้งสองสายพันธุ์สูงที่สุด

 

การนำผลงานไปใช้ประโยชน์


ด้านสาธารณะ

องค์ความรู้ที่ได้จากศึกษาครั้งนี้สามารถยืนยันคุณสมบัติของผ้าย้อมครามในการต้านจุลินทรีย์ชนิดต่าง ๆ ได้แก่ แบคทีเรีย ยีสต์ และรา ซึ่งสามารถใช้เป็นแหล่งข้อมูลทางวิชาการที่มีความน่าเชื่อถือตามหลักกระบวนทางวิทยาศาสตร์ ที่สามารถนำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน และมีส่วนในการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค โดยสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมที่มีประโยชน์แก่ชุมชนในท้องถิ่นต่อไปได้


อ้างอิงข้อมูลจาก

โครงการวิจัย : การประเมินฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ของผ้าย้อมคราม

หัวหน้าโครงการ : นักวิจัย : ดร.แก้วกัลยา โสตถิสวัสดิ์ คณะวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
สนับสนุนโดย : ทุนสนับสนุนการวิจัยสำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จากงบประมาณแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562

 

 

 

©2024 RDI.SNRU.AC.TH. ALL RIGHTS RESERVED.