การเพาะเลี้ยงไส้เดือนเพื่อพัฒนาเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่


นักวิจัย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รัตน์มณี ชนะบุญ คณะเทคโนโลยีการเกษตร

 


แนวคิดที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้


ไส้เดือนเป็นสัตว์ที่ได้รับความนิยมในการนำมาใช้ปรับปรุงดิน เนื่องจากการเคลื่อนที่ของไส้เดือนในดินจะทำให้ดินมีช่องว่าง เกิดการถ่ายเทน้ำและอากาศได้ดี การกินของไส้เดือนโดยการย่อยสลายซากอินทรียวัตถุต่าง ๆ แล้วปลดปล่อยมูลที่มีธาตุอาหารต่าง ๆ มากมายปนออกมาด้วยจะทำให้ดินที่มีไส้เดือนอาศัยอยู่เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะต่อการเพาะปลูกพืช

หลายประเทศมีการนำไส้เดือนมาเลี้ยงเพื่อการกำจัดขยะอินทรีย์ นำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ ประเทศไทยเป็นอีกประเทศที่มีการใช้ประโยชน์จากไส้เดือนทั้งในรูปแบบการเลี้ยงเพื่อผลิตปุ๋ยชีวภาพและการเก็บในธรรมชาติเพื่อส่งไปขายต่างประเทศทุกปี แต่ไส้เดือนที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์นั้นยังไม่เคยได้รับการศึกษาและรายงานถึงชนิดพันธุ์และการเลี้ยงเลย การศึกษาครั้งนี้จึงมุ่งเน้นหาความหลากหลายของไส้เดือนในจังหวัดสกลนคร และนำไส้เดือนที่ถูกใช้ประโยชน์มาเลี้ยงในระบบเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ไส้เดือนโดยไม่ก่อให้เกิดการสูญพันธุ์และเกิดการอนุรักษ์สายพันธุ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่น


ผลการดำเนินงาน

ผลจากการศึกษาความหลากหลายของไส้เดือนในจังหวัดสกลนครพบ 28 ชนิด เมื่อคัดเลือกชนิดที่ถูกนำไปตากขายไปวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนะแร่ธาตุในเนื้อเยื่อพบว่าไส้เดือนมีคุณค่าทางโภชนะที่เหมาะสมต่อการนำไปเป็นแหล่งอาหารในมนุษย์และสัตว์ได้ ส่วนการเพาะเลี้ยงนั้นได้คัดเลือกไส้เดือนที่ชาวบ้านตากขายและไส้เดือนที่อาศัยออยู่หน้าดินมาเลี้ยงในระบบเพาะเลี้ยงพบว่าชนิดที่ชาวบ้านตากขายยังไม่สามารถเลี้ยงในระบบได้ แต่ชนิดที่อาศัยอยู่หน้าดินสามารถเลี้ยงในระบบได้เป็นอย่างดี ผลจากการศึกษาครั้งนี้จะทำให้ได้ข้อมูลของไส้เดือนเพื่อนำไปพัฒนาและต่อยอดให้ไส้เดือนกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ของชาวจังหวัดสกลนครต่อไปในอนาคตได้

 

การนำผลงานไปใช้ประโยชน์


ด้านเชิงสาธารณะระดับชุมชน

 องค์ความรู้จากการวิจัยนี้ได้นำไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรและบุคคลที่สนใจ โดยจัดอบรมเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงไส้เดือน มุ่งหวังให้เกษตรกรตระหนักถึงประโยชน์ของไส้เดือนและการนำวัสดุเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่า ไส้เดือนเป็นวัตถุที่มีชีวิตที่สามารถนำไปปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างของดินได้ เกษตรกรที่เข้ารับการอบรมจะสามารถสร้างรายได้เสริมจากการเพาะเลี้ยงไส้เดือนและลดรายจ่ายจากการซื้อปุ๋ยเคมีในการปลูกพืชในครัวเรือนได้

 


อ้างอิงข้อมูลจาก

โครงการวิจัย : การเพาะเลี้ยงไส้เดือนเพื่อพัฒนาเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่

หัวหน้าโครงการ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รัตน์มณี ชนะบุญ คณะเทคโนโลยีการเกษตร
สนับสนุนโดย : ทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานประสานงานโครงการวิจัยการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานความหลากหลายทางชีวภาพ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562

 

©2024 RDI.SNRU.AC.TH. ALL RIGHTS RESERVED.