การพัฒนารูปแบบและเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จากความหลากหลายทางชีวภาพและทุนทางวัฒนธรรมบนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนผ้าย้อมคราม จังหวัดสกลนคร


นักวิจัย : อาจารย์นิโลบล ภู่ระย้า และคณะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

 


แนวคิดที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้


จังหวัดสกลนครมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่โดดเด่นเป็นทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนคือการทำผ้าย้อมคราม โดยเฉพาะในอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งมีชุมชนทำผ้าย้อมครามที่มีชื่อเสียงหลายกลุ่มกระจายตัวอยู่โดยรอบ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยลักษณะทางภูมิประเทศส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ราบและอีกส่วนเป็นภูเขาก่อเกิดความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลให้อำเภอพรรณานิคมมีความพร้อมทั้งด้านทุนทางวัฒนธรรมและความหลากหลายทางธรรมชาติที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นรูปแบบเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่เหมาะสมได้ โดยการท่องเที่ยวในลักษณะเช่นนี้จะเน้นให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมหรือมีประสบการณ์ในการทำกิจกรรมร่วมกับคนในชุมชนพื้นที่ เพื่อสร้างและเก็บความประทับใจจากการลงมือทำด้วยตัวเอง หากจะร้อยเรียงเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่เหมาะสมกับลักษณะของพื้นที่ ก็ควรนำประเด็นด้านภูมิปัญญาการทำผ้าย้อมครามมาเป็นรูปแบบกิจกรรมหลักควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน และร้อยเรียงสถานที่สำคัญหรือสถานที่ท่องเที่ยวของชุมชนเข้าไปในเส้นทางการท่องเที่ยวดังกล่าว เมื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมของชุมชนที่สามารถนำมาจัดเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของชุมชนผ้าย้อมคราม อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ก็พบว่ามีจำนวน 4 ชุมชน ได้แก่ บ้านหนองครอง บ้านดอนกอย บ้านคำข่า และบ้านอูนดง โดยชุมชนดังกล่าวนี้มีความแตกต่างกันทั้งด้านภูมิปัญญาในการทำผ้าย้อมครามและลักษณะภูมิประเทศ ทำให้สามารถจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวได้หลากหลายโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพที่มีในชุมชน


ผลการดำเนินงาน

1) ด้านการศึกษาบริบทชุมชนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนผ้าย้อมครามของอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร พบว่ามี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

  •  ด้านสังคม
  • ด้านวัฒนธรรม ได้แก่ ผ้าย้อมคราม ศาสนสถานและวัด และกลุ่มชาติพันธุ์
  • ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ แหล่งน้ำ และป่าไม้

    เมื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมในการนำประเด็นข้างต้นมาจัดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์พบว่า ทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนผ้าย้อมครามปรากฏอยู่ในด้านสังคมและด้านวัฒนธรรม ซึ่งวัฒนธรรมเป็นประเด็นที่มีความโดดเด่นและเหมาะสมที่สุด นอกจากนี้ ยังมีประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติที่แสดงถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่สามารถนำมาจัดการท่องเที่ยวได้เช่นกัน

2) ด้านการศึกษาการพัฒนารูปแบบเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่เหมาะสม จากฐานความหลากหลายทางชีวภาพและทุนทางวัฒนธรรมบนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนผ้าย้อมครามของอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร พบว่า สามารถออกแบบการท่องเที่ยวได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ รูปแบบการท่องเที่ยวที่เน้นการทำกิจกรรมการทำผ้าย้อมครามเป็นหลัก เหมาะสำหรับผู้ที่รักและต้องการเรียนรู้ในภูมิปัญญานี้อย่างแท้จริง และอีกรูปแบบหนึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่ผนวกสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่น่าสนใจเข้ามา ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายการท่องเที่ยวของจังหวัดสกลนครในประเด็นของเมือง 3 ธรรม อันได้แก่ ธรรมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม รูปแบบการท่องเที่ยวอย่างหลังนี้เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไปที่ต้องการมาเรียนรู้วัฒนธรรมและดื่มด่ำกับธรรมชาติ

การนำผลงานไปใช้ประโยชน์


ด้านชุมชนและพื้นที่

ชุมชนทำผ้าย้อมครามทั้ง 4 ชุมชน ได้แก่ บ้านหนองครอง บ้านดอนกอย บ้านคำข่า และบ้านอูนดง เกิดการเรียนรู้การจัดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในรูปแบบที่เหมาะสมกับชุมชน ซึ่งคนในชุมชนสามารถนำรูปแบบการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในงานวิจัยนี้มาใช้วางแผนพัฒนาพื้นที่ ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ ทั้งนี้ การจัดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ทั้งสองรูปแบบที่ปรากฏในงานวิจัยต้องเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน จึงจะนำไปสู่การยกระดับการเป็นชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการท่องเที่ยวจนสามารถกระจายรายได้ให้คนในชุมชนได้อย่างทั่วถึง

 


อ้างอิงข้อมูลจาก

โครงการวิจัย : การพัฒนารูปแบบและเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จากความหลากหลายทางชีวภาพและทุนทางวัฒนธรรมบนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนผ้าย้อมคราม จังหวัดสกลนคร
หัวหน้าโครงการ : อาจารย์นิโลบล ภู่ระย้า และคณะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์


สนับสนุนโดย : นสนับสนุนการวิจัย สำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จากงบประมาณแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ 2560

©2024 RDI.SNRU.AC.TH. ALL RIGHTS RESERVED.