นักวิจัย : อาจารย์ญาณิกา แสนสุริวงค์และคณะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
แนวคิดที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้
“ผ้าย้อมคราม” ปรากฏอยู่ในสังคมและวัฒนธรรมของชาวบ้านมาตั้งแต่อดีต หลายครั้งถูกนำมาปรับใช้เป็นปฏิบัติการบนเรือนกายด้วยบทบาทหน้าที่ของปัจจัยสี่ของเครื่องแต่งกายด้วยการ “โอบ รัด มัด ผูก” ในวิถีชีวิตประจำวัน แต่บางขณะผ้าย้อมครามก็ถูกอธิบายด้วยแนวคิดเชิงวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นคุณค่าเชิงสัญญะ (sign value) และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไว้กับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ในที่ขณะภาครัฐและเอกชนรวมถึงสถาบันการศึกษาก็ได้ร่วมกันดำเนินงานร่วมกับชุมชนและหน่วยงานในจังหวัดสกลนครจัดทำสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) ผ้าย้อมครามสกลตั้งแต่ปี 2551 ดังนั้น เพื่อให้เกิดการยกระดับคุณค่าของวัฒนธรรมชุมชนสู่การสร้างมูลค่าให้แก่ภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงต้องมีการจัดเตรียมชุมชนให้เกิดความพร้อมในการเป็นชุมชนต้นแบบเพื่อการเรียนรู้สำหรับการเป็นแหล่งเรียนรู้ พร้อมทั้งจัดทำแนวทางการพัฒนา (Road map) การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการสร้างการเชื่อมโยงวิสาหกิจชุมชนสู่กลุ่มธุรกิจ (Cluster) โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่มีองค์ประกอบการดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องในการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากความหลายหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งการจัดทำการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้กับมวลชนสำหรับสร้างการโอกาสทางการตลาดให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนให้ยกระดับสู่มิติของการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น
ผลการดำเนินงาน
การศึกษาทุนทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจากความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นจากผ้าย้อมครามของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 โดยมีพื้นที่ที่เป็นรูปแบบของชุมชนต้นแบบการท่องเที่ยว คือ บ้านหนองครอง ตำบลเชิงชุม อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร และบ้านหนองสังข์ ตำบลหนองสังข์ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมทั้งภาคเครือข่ายของชุมชนทั้งสองแห่ง และความสนใจของผู้นำชุมชนท้องถิ่นตลอดจนการให้ความสำคัญของชุมชน เกิดเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวที่มีทุนทางวัฒนธรรมเป็นตัวขับเคลื่อน โดยเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ สภาพแวดล้อมที่ดี ความสะดวกสบายที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่สามารถตอบรับการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การดึงดูดนักท่องเที่ยว ด้านทรัพยากรธรรมชาติที่มีลักษณะเฉพาะหรือความเป็นเอกลักษณ์ ประวัติศาสตร์โบราณวัตถุ สถานที่ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศ วัฒนธรรมประเพณีในท้องถิ่น นอกจากนั้นสภาพของเส้นทางท่องเที่ยว ลักษณะการเดินทางระยะเวลาจากตัวเมืองไปยังแหล่งท่องเที่ยว เป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นถึงมีศักยภาพความพร้อมในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวของของชุมชนทั้ง 2 ได้เป็นอย่างดี พบว่า มีการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและชุมชน การสนับสนุนและส่งเสริมในการพัฒนาการท่องเที่ยวจากสถาบันการศึกษา การพัฒนาผู้นำและคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง การสร้างเครือข่ายของแหล่งท่องเที่ยวภายในจังหวัดและในจังหวัดใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องซึ่งรูปแบบของชุมชนต้นแบบที่นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและเส้นทางท่องเที่ยวจากความหลากหลายทางชีวภาพเป็นการยกระดับรายได้ให้เกิดขึ้นแก่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน
การนำผลงานไปใช้ประโยชน์
ด้านชุมชนและพื้นที่
รูปแบบเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนต้นแบบทั้ง 2 ชุมชน สามารถเป็นตัวอย่างให้แก่ชุมชนต่าง ๆที่สนใจในการพัฒนาเศรษฐกิจและเส้นทางการท่องเที่ยวจากความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งต้องอาศัยการพัฒนาคุณค่าของทุนทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้นภายในชุมชน โดยการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและชุมชน การสนับสนุนและส่งเสริมในการพัฒนาการท่องเที่ยวจากการพัฒนาผู้นำและคนในชุมชนอย่างต่อเนื่องการสร้างเครือข่ายของแหล่งท่องเที่ยวภายในจังหวัดและในจังหวัดใกล้เคียง การประเมินผลการดำเนินงานของชุมชนโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับรายได้ให้แก่ชุมชนของตน ซึ่งผู้นำชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ สามารถนำรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนนี้ไปทดลองใช้เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาโดยการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนของตนเองต่อไปได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
โครงการวิจัย : ทุนทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจากความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นจากผ้าย้อมครามของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2
หัวหน้าโครงการ : อาจารย์ญาณิกา แสนสุริวงค์และคณะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สนับสนุนโดย : ทุนสนับสนุนการวิจัย สำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จากงบประมาณแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ 2562