การออกแบบและพัฒนาเครื่องแยกเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศ


นักวิจัย : อาจารย์สุวิพงษ์ เหมะธุลิน และคณะ สังกัดคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม


แนวคิดที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้


การปลูกมะเขือเทศเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ เป็นหนึ่งในระบบเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญของเกษตรกรบ้านนางอย อ.เต่างอย จ.สกลนคร โดยเกษตรกรเก็บผลผลิตมะเขือเทศจากแปลงปลูกที่มีความสมบูรณ์แข็งแรงมาเป็นเมล็ดพันธุ์ แต่ปัญหาที่สำคัญของเครื่องคัดแยกเมล็ดมะเขือเทศที่เกษตรกรใช้ในปัจจุบัน คือผลมะเขือเทศจะติดในลูกบีบของเครื่องจักรและต้องใช้น้ำฉีดตลอดเวลา และการคัดแยกเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศต้องมีการล้างทำความสะอาดเครื่องก่อนเพื่อป้องกันสายพันธุ์มะเขือเทศปะปนกัน แต่เครื่องมือมีขนาดใหญ่ทำความสะอาดได้ยากและไม่สามารถเปิดเครื่องเพื่อล้างทำความสะอาดได้ เกษตรกรจึงกลับมาใช้แรงงานคนในการบีบแยกเมล็ดออกจากผลมะเขือเทศ ดังนั้นเพื่อลดต้นทุนในกระบวนผลิต ลดแรงงานที่ใช้ในการคัดแยกเมล็ดพันธุ์และการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ที่มีราคาแพง จึงได้พัฒนาเครื่องมือและเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการคัดแยกเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศโดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน

ผลการดำเนินงาน


เกิดเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับชุมชน ประเภทเครื่องแยกเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศที่ตอบสนองความต้องการของชุมชน ชุมชนสามารถใช้งานเครื่องมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดเวลาและขั้นตอนการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกเมล็ดเฉลี่ยร้อยละ 82.26 และลดอัตราการสูญเสียเฉลี่ยร้อยละ 17.74 กำลังการผลิตเฉลี่ย 60 กิโลกรัมต่อชั่วโมง  

การนำผลงานไปใช้ประโยชน์


ด้านสาธารณะ

เครื่องแยกเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศที่เหมาะสมในชุมชนสามารถคัดแยกและลดอัตราการสูญเสียเมล็ดพันธุ์ ลดต้นทุนในกระบวนการผลิตมะเขือเทศ การปรับเปลี่ยนการแยกเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศแบบดั้งเดิมสู่การใช้นวัตกรรมเครื่องจักรเพื่อลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตรเพิ่มประสิทธิผลการผลิตมะเขือเทศ สู่การขยายผลเชิงพื้นที่ในอำเภอพรรณานิคมต่อไป


อ้างอิงข้อมูลจาก

โครงการวิจัย “การออกแบบและพัฒนาเครื่องแยกเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศ
หัวหน้าโครงการ : สุวิพงษ์ เหมะธุลิน
สนับสนุนโดย :ทุนสนับสนุนการวิจัยสำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จากงบประมาณเงินรายได้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562

©2024 RDI.SNRU.AC.TH. ALL RIGHTS RESERVED.