การพัฒนากระบวนการผลิตและการตรวจสอบเนื้อคราม และผ้าย้อมคราม


นักวิจัย : อาจารย์ศุภกร อาจหาญ และ ผศ.ดร.สุดกมล ลาโสภา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร


แนวคิดที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้


กระบวนการผลิตผ้าย้อมครามธรรมชาติของชุมชนในจังหวัดสกลนคร เริ่มต้นตั้งแต่ 1) การปลูกต้นคราม พันธุ์ครามที่ปลูกในจังหวัดสกลนครมี 2 สายพันธุ์คือพันธุ์ฝักตรง และพันธุ์ฝักงอ ซึ่งในปัจจุบันชุมชนนิยมปลูกครามพันธุ์ฝักงอ เนื่องจากครามพันธุ์ฝักงอให้สีที่เข้มกว่าครามพันธุ์ฝักตรง (ข้อมูลจากผู้ย้อม) ทำให้ครามพันธุ์ฝักตรงมีการปลูกน้อยลงมาก จนเกือบจะหายไปจากชุมชน 2) การเตรียมเนื้อคราม เตรียมจากการหมักใบครามและตกตะกอนสีครามด้วยปูนขาวหรือปูนแดง เนื้อครามที่ได้ส่วนใหญ่ ชุมชนนำมาใช้ในการเตรียมน้ำย้อมสำหรับย้อมผ้าฝ้าย และบางส่วนจำหน่ายในรูปของเนื้อครามให้กับชุมชนอื่นเพื่อใช้ในการย้อม หรือใช้ในการเตรียมสี ในการจำหน่ายผ้าย้อมคราม และเนื้อคราม บางครั้งพบว่าในตลาดมีผู้ผลิตบางรายผลิตผ้าย้อมสีน้ำเงินจากสีสังเคราะห์มาจำหน่ายโดยอ้างว่าเป็นผ้าย้อมครามธรรมชาติ และในการผลิตเนื้อคราม บางชุมชนผลิตเนื้อครามที่ไม่ได้มาตรฐาน กล่าวคือมีการเติมปูนขาวในปริมาณมากเพื่อเพิ่มน้ำหนักของเนื้อคราม ทำให้เกิดความสับสน เกิดความไม่มั่นใจการเลือกซื้อสินค้าและไม่ยุติธรรมกับผู้บริโภค 3) การเตรียมสีครามและย้อมผ้าคราม กระบวนการเตรียมสีครามเป็นกระบวนการหมักเนื้อครามในน้ำขี้เถ้าโดยอาศัยการทำงานของจุลินทรีย์ภายใต้สภาวะเบสเปลี่ยนสีครามในรูปของอินดิโกบลู เป็นอินดิโกไวท์ จากนั้นนำมาย้อมผ้าฝ้าย ขั้นตอนนี้ต้องอาศัยความชำนาญหรือความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ทำให้คุณภาพน้ำย้อมสีครามในแต่ละชุมชนมีความแตกต่างกัน ส่งผลให้ผ้าย้อมสีครามมีคุณภาพที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่น เฉดสี ความสว่าง ความสดใส และความคงทนต่อการซักล้าง ผ้าย้อมสีครามบางชิ้นสีตก ซีดจางได้ง่าย เมื่อผ่านการซัก จากสภาพปัญหาข้างต้น ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะพัฒนากระบวนการผลิตเนื้อคราม เพื่อการซื้อขายเนื้อครามให้มีมาตรฐาน ราคายุติธรรม และผ้าย้อมครามให้ได้ประสิทธิภาพและคุณภาพสูงสุด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและเป็นมาตรฐานในการผลิตผ้าย้อมคราม อีกทั้งสร้างชุดทดสอบการตรวจวัดปริมาณอินดิโกในเนื้อครามและชุดทดสอบผ้าย้อมครามธรรรมชาติ เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ ไม่ต้องใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อน

ผลการดำเนินงาน


งานวิจัยนี้เป็นการพัฒนากระบวนการผลิตตะกอนอินดิโก (เนื้อคราม) โดยศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการแช่ใบคราม และการเลือกใช้สารตกตะกอนในการเตรียมตะกอนอินดิโก พบว่าสภาวะการแช่ใบครามที่ดีที่สุด คือเวลา 24 ชั่วโมง อุณหภูมิเริ่มต้น 10 องศาเซลเซียส และ pH 7 พันธุ์ครามฝักงอ และ 1% w/w ของสารตกตะกอนสารส้ม และสารตกตะกอนไคโตซาน ต่อปริมาณสารละลาย ตะกอนอินดิโกที่เตรียมได้มีสีน้ำเงิน-แดง แต่ตะกอนอินดิโกเมื่อใช้สารตกตะกอนสารส้มจะมีการปนเปื้อนของสารอื่น นอกจากนี้งานวิจัยยังศึกษาการปรับปรุงวิธีการใช้สารช่วยยึดติดในการย้อมผ้าฝ้ายด้วยตะกอนอินดิโก พบว่าการย้อมผ้าฝ้ายด้วยตะกอนอินดิโกที่ใช้สารตกตะกอนสารส้ม และสารตกตะกอนไคโตซานให้คุณภาพผ้าฝ้ายหลังย้อมดีกว่าการย้อมผ้าฝ้ายปรับปรุงด้วยสารส้ม และไคโตซานย้อมด้วยตะกอนอินดิโก ทั้งนี้ผ้าฝ้ายหลังย้อมด้วยตะกอนอินดิโกเมื่อใช้สารตกตะกอนสารส้ม และสารตกตะกอนไคโตซานจะมีค่าความเข้มสีมาก มีความคงทนของสีต่อการซักล้าง และแสงแดดดีเยี่ยม และมีสมบัติในการต้านแบคทีเรีย Bacillus subtilis และ Escherichia coli

การหาปริมาณอินดิโกในเนื้อครามที่ได้จากใบครามฝักงอสด และใบครามฝักงอสดปั่นละเอียด จากเนื้อครามที่เติมปูนขาวในปริมาณที่แตกต่างกัน เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานการหาปริมาณอินดิโกทินในเนื้อคราม และเปรียบเทียบปริมาณอินดิโกทินในเนื้อคราม โดยใช้เทคนิคยูวี-วิสิเบิลสเปกโทรโฟโทรเมทรี เปรียบเทียบความเข้มสีของอินดิโกทินในเนื้อคราม ด้วยเทคนิคโครมาโทรกราฟีผิวบาง และทำปฏิกิริยาอินดิโกทินกับโซเดียมไฮดรอกไซด์ จากผลวิจัย พบว่า เนื้อครามที่ได้จากใบครามฝักงอสด 10 กรัม ต่อ ปูนขาว 1.5 กรัม ให้ปริมาณอินดิโกทินสูงสุด เท่ากับ 0.042 ± 0.005 มิลลิกรัม ต่อเนื้อคราม 10 มิลลิกรัม เนื้อครามที่ได้จากใบครามฝักงอสดปั่นละเอียด 10 กรัม ต่อ ปูนขาว 0.5 กรัม ให้ปริมาณอินดิโกทินสูงสุด เท่ากับ 0.019 ± 0.0003 มิลลิกรัม ต่อเนื้อคราม 10 มิลลิกรัม ผลการเปรียบเทียบความเข้มสีของอินดิโกทินในเนื้อครามตัวอย่างที่มีปริมาณปูนขาวแตกต่างกันด้วยเทคนิคโครมาโทรกราฟีผิวบางพบองค์ประกอบที่สำคัญที่ปรากฏชัดเจน โดยเห็นได้ด้วยตาเปล่ามีองค์ประกอบสีแดง และสีน้ำเงิน พบว่า ในปริมาณเนื้อคราม 1 กรัม เท่ากัน เนื้อครามที่ได้จากใบครามสด 10 กรัม ต่อ ปูนขาว 1.5 กรัม พบสารสีแดงและสีน้ำเงินเข้มที่สุด และจากการทำปฏิกิริยาเนื้อครามกับโซเดียมไฮดรอกไซด์ พบว่า เมื่อหยดโซเดียมไฮดรอกไซด์ลงไปจากสารละลายใสไม่มีสีเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมื่อเปรียบเทียบความเข้มสีในโปรแกรม ImageJ พบว่า เนื้อครามที่มีปริมาณอินดิโกทินมากจะให้ความเข้มสีมาก ซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์ด้วยเทคนิค ยูวี-วิสิเบิล สเปกโทรสโกปี

การนำผลงานไปใช้ประโยชน์


ด้านชุมชนและพื้นที่

การนำองค์ความรู้จากงานวิจัย สู่การเผยแพร่องค์ความรู้ในการทำเนื้อครามให้ได้ปริมาณอินดิโกสูง มีคุณภาพ พร้อมทั้งตรวจสอบมาตรฐานปริมาณอินดิโกบลูในเนื้อครามเพื่อสามารถกำหนดราคาขายได้ และนำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปใช้ในการตรวจสอบเนื้อครามธรรมชาติของกลุ่มผู้ผลิตผ้าย้อมคราม เพื่อให้มีผลยืนยันทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือแก่ผู้บริโภค และยังสามารถให้ความน่าเชื่อถือแก่กลุ่มผู้ผลิตเนื้อครามธรรมชาติเพื่อการขายเนื้อคราม ให้มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

 


อ้างอิงข้อมูลจาก

โครงการวิจัย : การพัฒนากระบวนการผลิตและการตรวจสอบเนื้อคราม และผ้าย้อมคราม
หัวหน้าโครงการ : ศุภกร อาจหาญ
สนับสนุนโดย :ทุนสนับสนุนการวิจัย สำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จากงบประมาณแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ 2562

 

 

 

 

©2024 RDI.SNRU.AC.TH. ALL RIGHTS RESERVED.