ภูมินิเวศพื้นที่ป่าต้นน้ำหนองหาร:การศึกษาบริบทและพัฒนาศักยภาพการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน กรณีศึกษาชุมชนหลุบเลา ตำบลหลุบเลา อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร


นักวิจัย : อาจารย์ภัชราภรณ์ สาคำ และ อาจารย์ปฏิมาภรณ์ กังวานศรีเพชร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

 


แนวคิดที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้


ชุมชนหลุบเลา ตำบลหลุบเลา อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร มีบริบทที่สะท้อนความเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นและวิถีการดำรงชีวิตท่ามกลางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ของภูมินิเวศพื้นที่ป่าต้นน้ำหนองหาร ชุมชนมีแนวทางการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ที่ให้คุณค่ากับสิ่งเหล่านี้ ขณะเดียวกันมีพลังองค์กรชุมชนที่ขับเคลื่อน คือ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนและปุ๋ยชีวภาพ หมู่ที่ 15 และมีการขยายเครือข่ายขับเคลื่อนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและทรัพยากรธรรมชาติในระดับชุมชนอย่างต่อเนื่อง และประเด็นการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นหนึ่งในความสนใจและความต้องการของชุมชน

ผลการดำเนินงาน

1.บริบทชุมชนการท่องเที่ยว พบว่าชุมชนมีต้นทุนทางทรัพยากรท่องเที่ยวได้แก่ ทรัพยากรป่าไม้หรือป่าชุมชน รวมเนื้อที่กว่า 5,654 ไร่ ทั้งเพื่ออนุรักษ์ การหาอยู่หากินและป่าทางวัฒนธรรม สำนักสงฆ์ถ้ำเสี่ยงของ มีทัศนียภาพที่สวยงามและเงียบสงบ เป็นสถานปฏิบัติธรรมศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั้งภายในและนอก การพัฒนารูปแบบเกษตรอินทรีย์และการแปรรูปอาหาร สร้างความมั่นคงทางอาหารและผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายเป็นรายได้เสริม และวิถีชีวิตทางวัฒนธรรม ผ่านปรากฏการณ์และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ บ้านไม้โบราณ ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ ต้นศรีมหาโพธิ์อายุ 200 ปี
2.การพัฒนาศักยภาพองค์กรชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วม ได้แก่ 1)การเตรียมความพร้อมชุมชนเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ได้แก่ ฐานข้อมูลชุมชนหรือบริบทชุมชนด้านการท่องเที่ยว เพื่อจัดทำคู่มือการท่องเที่ยว 2)การพัฒนาสื่อเพื่อการเผยแพร่ ภายใต้ชื่อเพจ“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านหลุบเลานาจ่า”เพื่อเผยแพร่ข้อมูลผลผลิตทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ชุมชนและบริการอื่น
3)การสนับสนุนโครงการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ และ
4) การพัฒนากลไกตลาด ได้แก่ สถานที่ขายสินค้าและบริการ การพัฒนามาตรฐานสินค้าเพื่อสร้างความน่าเชื่อ และขยายเครือข่ายทั้งระดับแนวราบและแนวดิ่ง สิ่งเหล่านี้เชื่อว่าจะนำไปสู่การพัฒนาด้านการบริหารจัดการและศักยภาพเพื่อการจัดการท่องเที่ยวได้ในอนาคต

 

การนำผลงานไปใช้ประโยชน์


ด้านเชิงสาธารณะ ระดับชุมชน

การนำไปใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะ ระดับชุมชน หรือกลุ่มวิสาหกิจฯ เกิดมติร่วมกันเพื่อเป็นแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจรากฐาน องค์ความรู้สามารถปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต เพื่ออาหารที่ปลอดภัยบริโภคระดับครัวเรือนแล้วเกิดการขยายผลอย่างต่อเนื่อง และเกิดแผนจัดการพัฒนาท้องถิ่นแบบบูรณาการหรือการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปวิจัยใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำรายงานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม(Environmental Checklist) เพื่อขออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงชมภูพานและป่าดงกะเฌอ เพื่อสร้างวัดถ้ำเสี่ยงของ เสนอต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นทรัพยากรท่องเที่ยวหนึ่งที่สำคัญของชุมชนหลุบเลา เพื่อให้มีการประกาศใช้ตามกฎหมาย หรือมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์ในทางพระพุทธศาสนาและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่อไป


 

อ้างอิงข้อมูลจาก

โครงการวิจัย : ภูมินิเวศพื้นที่ป่าต้นน้ำหนองหาร:การศึกษาบริบทและพัฒนาศักยภาพการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน กรณีศึกษาชุมชนหลุบเลา ตำบลหลุบเลา อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร

หัวหน้าโครงการ : อาจารย์ภัชราภรณ์ สาคำ  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สนับสนุนโดย : ทุนสนับสนุนการวิจัยสำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จากงบประมาณเงินรายได้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562

 

 

 

 

©2024 RDI.SNRU.AC.TH. ALL RIGHTS RESERVED.