นักวิจัย : อาจารย์ชายแดน มิ่งเมือง คณะวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
แนวคิดที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้
ในแต่ละปีการย้อมและทอผ้าครามเป็นธุรกิจและอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่จังหวัดสกลนครเป็นจำนวนมาก จากรายงานวิจัยของ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 พบว่า ผลิตภัณฑ์จากผ้าย้อมครามจากจังหวัดสกลนครมีมูลค่าสูงถึง 277 ล้านบาทในปี 2555 อย่างไรก็ดี กระบวนการในการย้อมสีครามนั้น มีความยุ่งยากและซับซ้อน ต้องใช้ความชำนาญของผู้ย้อม กระบวนการก่อหม้อนิลหรือหม้อครามแต่ละกลุ่มผู้ผลิตต่างก็มีส่วนผสมที่แตกต่างกันไป ส่งผลให้ครามหมักที่ได้มีสีแตกต่างกัน แม้แต่ผลผลิตจากผู้ผลิตรายเดียวกันก็ยังมีลักษณะที่แตกต่าง ไม่เป็นมาตรฐาน นอกจากนั้นการดูแลหม้อนิลหรือหม้อครามหลังจากก่อแล้ว ต้องทำทุกวัน ต้องมีการโจกครามเพื่อเพิ่มอากาศให้แก่ครามหมัก ต้องสังเกต สี ฟอง กลิ่น ความเข้มข้น เพื่อให้ครามหมักพร้อมสำหรับการย้อม รวมทั้งป้องกันไม่ให้หม้อหนี หรือย้อมไม่ติด ซึ่งหม้อครามหนีเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของการทำสีครามและย้อมคราม
จากกระบวนการดูแลหม้อนิลหรือหม้อครามที่มีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องดูแล อีกทั้งต้องทำอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่งจึงมีความเหมาะสมเป็นอย่างมาก เพราะอินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่งสามารถติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับ (sensor) ได้หลากหลายเพื่อเก็บข้อมูลได้ตลอดเวลา สามารถส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายทั้งระบบอินเตอร์เน็ตหรือโทรศัพท์มือถือ เพื่อแจ้งเตือนแก่ผู้ย้อม หรือเก็บเข้าฐานข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์ต่อไปได้เป็นอย่างดี ซึ่งสอดคล้องกับการที่กลุ่มผู้ผลิตผ้าฝ้ายย้อมครามขาดอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อช่วยในการทุ่นแรงและทำให้ได้ผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน
ผลการดำเนินงาน
1) ปัจจัยที่ส่งผลให้หม้อครามตาย จากผลการสัมภาษณ์ความเห็นแม่ครามถึงปัจจัยที่ส่งผลให้หม้อครามตายและการทดสอบเพื่อยืนยันความเห็นของแม่ครามสามารถสรุปได้ว่า การโจกและการเติมส่วนผสมตลอดช่วงชีวิตการหมักของหม้อครามมีผลต่อการตายของหม้อคราม แต่อย่างไรก็ตามหม้อครามที่แข็งแรงหรือหม้อครามที่มีขี้แท่นมาก ในกรณีที่หม้อครามไม่ผ่านการเติมส่วนผสมและทำการโจกเป็นเวลานานจนหม้อครามตายจะสามารถก่อหม้อใหม่ได้โดยการเติมส่วนผสมเพิ่มและทำการโจก แม้ว่าเวลาจะผ่านไปประมาณ 2 ถึง 4 อาทิตย์ ในทางตรงข้าม หม้อครามที่ก่อใหม่มีปริมาณขี้แท่นน้อย ในกรณีที่หม้อครามไม่ผ่านการเติมส่วนผสมและทำการโจกหม้อครามจะตายภายใน 3 ถึง 4 วัน และหม้อครามจะไม่สามารถก่อใหม่ได้
2) กรอบแนวคิดของระบบหม้อหมักครามธรรมชาติ IoT กรอบแนวคิดของระบบหม้อหมักครามธรรมชาติ IoT ประกอบด้วยสามส่วนสำคัญคือ sensor, IoT system และ cloud โดยจากข้อมูลที่ได้จากการเก็บแบบสอบถามจากแม่ครามพบว่า คุณลักษณะที่สามารถบ่งชี้สถานะหม้อครามได้คือ สี, กลิ่น และ รส ของน้ำหมักคราม โดยข้อมูลดังกล่าวจะถูกเก็บรวบรวมและประมวลผลด้วยระบบ IoT และส่งต่อไปเก็บไว้บน cloud
3) การศึกษาผลการทดลองและการพัฒนาระบบหม้อหมักครามธรรมชาติ IoT พบว่าาการใช้ sensor TCS230 ซึ่งเป็น sensor ที่ใช้บ่งชี้สถานะของสี เพียงพอต่อการใช้ในการบ่งชี้ว่าสภาวะครามตายเกิดขึ้นแล้วหรือไม่โดยพิจารณาจากค่าความเข้มของสี โดยค่าความเข้มของสีที่เพิ่มขึ้นแสดงให้เห็นว่าสภาวะครามตายเริ่มเกิดขึ้น ในขณะที่การใช้ sensor บ่งชี้ความเป็นกรดด่างและตรวจจับปริมาณของก๊าซ ไม่สามารถจำแนกได้ว่าหม้อครามตายหรือไม่ การพัฒนาระบบหม้อหมักคราม IoT การประยุกต์ใช้ ESP8266 ในการประมวลผลสัญญานดิจิตอลที่ได้จาก sensor สี RGB(TCS230) และส่งต่อไปยังระบบจัดเก็บข้อมูล สามารถใช้บ่งชี้สถานะการมชีวิตของของหม้อหมักคราม ได้
การนำผลงานไปใช้ประโยชน์
ด้านชุมชนและพื้นที่
การนำองค์ความรู้จากงานวิจัย ในการใช้เทคโนโลยี IoT การหมักครามช่วยในการลดความเสี่ยงจากความเสียหายที่เกิดจากหม้อครามหนี และช่วยทุนแรงในการดูแลและควบคุมกระบวนการหมักครามให้แก่เกษตรกร
อ้างอิงข้อมูลจาก
โครงการวิจัย : หม้อหมักครามธรรมชาติ IoT
หัวหน้าโครงการ : อาจารย์ชายแดน มิ่งเมือง คณะวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
สนับสนุนโดย : ทุนสนับสนุนการวิจัยสำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จากงบประมาณแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562