การศึกษาและพัฒนาประสิทธิภาพน้ำยาทำความสะอาดอเนกประสงค์จากน้ำหมักชีวภาพเพื่อเพิ่มรายได้และลดขยะอินทรีย์ให้กับชุมชน


นักวิจัย : อาจารย์ ดร.อมรรัตน์ แท่งทอง สังกัดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


แนวคิดที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้


ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้นผิวที่มีจำหน่ายในท้องตลาดประกอบด้วยสารเคมีที่มีสภาพความเป็นกรด-เบสที่มีความรุนแรงเพื่อใช้ในการขจัดคราบสกปรก ซึ่งเมื่อใช้ไปนาน ๆ พื้นผิวก็จะถูกกัดเซาะและขณะเดียวกันไอระเหยของสารเคมีก็จะไปทำลายระบบทางเดินหายใจ ตลอดจนมีสารพิษตกค้างและสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้ยังทำลายจุลินทรีย์ในบ่อบำบัดน้ำเสีย ทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย และทำให้เพิ่มค่าใช้จ่ายในการกำจัดของเสีย นอกจากนี้ในน้ำยาทำความสะอาดยังมีส่วนผสมของสารลดแรงตึงผิว (sodium lauryl ether sulfate) ซึ่งช่วยในการกำจัดคราบสกปรก แต่สารเคมีดังกล่าวย่อยสลายทางชีวภาพได้น้อยและใช้เวลานานและเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ และนอกจากนี้ปัญหาจากคราบน้ำมันลอยอยู่บนผิวหน้าน้ำทำให้ออกซิเจนไม่สามารถผ่านลงสู่ผิวน้ำได้ ทำให้พืชและสัตว์น้ำตาย ทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย ด้วยเหตุดังกล่าวผู้วิจัยจึงมีแนวความคิดที่จะพัฒนาน้ำยาทำความสะอาดอเนกประสงค์จากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการทำสารลดแรงตึงผิวจากน้ำมันที่ใช้แล้วมาทำปฏิกริยาสะปอนนิฟิเคชัน และศึกษาเปรียบเทียบหาอัตราส่วนที่เหมาะสมระหว่างน้ำมันที่ใช้แล้วต่อน้ำมันถั่วเหลืองในการทำสบู่เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอเนกประสงค์ที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับน้ำยาทำความสะอาดในท้องตลาด และนอกจากนี้ยังเพิ่มส่วนผสมที่เป็นสารลดแรงตึงผิวจากน้ำหมักชีวภาพที่ได้จากผลผลิตที่มีอยู่มากในชุมชน คือ มะนาว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำความสะอาดและยังเป็นการเพิ่มรายได้และลดขยะอินทรีย์ให้กับชุมชน


ผลการดำเนินงาน

การศึกษาและพัฒนาประสิทธิภาพน้ำยาทำความสะอาดอเนกประสงค์จากน้ำหมักชีวภาพของมะนาว พบว่าอัตราส่วนระหว่างน้ำมันที่ใช้แล้วต่อน้ำมันถั่วเหลืองที่เหมาะสมที่ทำให้ได้น้ำยาทำความสะอาดที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสบู่เหลว 1403-2551 (มอก.1403-2551) คือ 70:30 ค่าสะพอนิฟิเคชันเท่ากับ 20.13 มก. KOH/g สภาวะดังกล่าวทำให้ปริมาณด่างอิสระและปริมาณไขมันทั้งหมดคือ 0.026 และ 0.622 ตามลำดับ ค่าความเป็นกรดด่างเท่ากับ 10.7 ค่าความหนืดคือ 50.41 x 10-3 Pas ปริมาณฟอง 330 มิลลิลิตร ความคงตัวของฟอง 30 มิลลิลิตรประสิทธิภาพการล้างออก 200 มิลลิลิตร เปอร์เซ็นต์ของด่างอิสระและปริมาณไขมันทั้งหมดเกิน 0.05 และ 15 ตามลำดับซึ่งแสดงถึงคุณภาพที่ดี และจากการศึกษาความพึงพอใจต่อผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดโดยทดสอบกับอาสาสมัครจำนวน 94 คน ผลปรากฏว่าอาสาสมัครมีความพึงพอใจต่อผลิตภัณฑ์ การขจัดคราบ การขจัดกลิ่น อยู่ในเกณฑ์ความพึงพอใจมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.74 และ 3.94 ตามลำดับ

 

การนำผลงานไปใช้ประโยชน์


ด้านสาธารณะ

ได้นำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยนี้ไปเผยแพร่โดยการจัดการอบรมภายใต้ชื่อโครงการ อบรมเชิงปฏิบัติการการจัดการและการใช้ประโยชน์จากน้ำมันที่ใช้แล้ว ให้แก่ชุมชนและนักเรียน โรงเรียนบ้านแป้นสามัคคีราษฎร์บำรุง ตำบลบ้านแป้น อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร เพื่อเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชน โดยการลดการเกิดมลพิษทางน้ำจากการทิ้งน้ำมันใช้แล้วลงสู่แหล่งน้ำและเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าโดยการนำน้ำมันที่ใช้แล้วมาทำให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีการนำน้ำหมักชีวภาพที่ได้จากขยะอินทรีย์หรือวัสดุทางการเกษตรที่มีมากเกินความต้องการมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และยังช่วยเพิ่มความสามารถในการขจัดคราบไขมันจากสารลดแรงตึงผิวชีวภาพที่เกิดขึ้นในกระบวนการหมัก ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรให้แก่ชุมชน และใช้ในการต่อยอดเพื่อพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนต่อไป


อ้างอิงข้อมูลจาก

โครงการวิจัย :การศึกษาและพัฒนาประสิทธิภาพน้ำยาทำความสะอาดอเนกประสงค์จากน้ำหมักชีวภาพเพื่อเพิ่มรายได้และลดขยะอินทรีย์ให้กับชุมชน
หัวหน้าโครงการ : อาจารย์ ดร.อมรรัตน์ แท่งทอง สังกัดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สนับสนุนโดย : ทุนสนับสนุนการวิจัย สำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จากงบประมาณเงินรายได้ ประจำปีงบประมาณ 2562