Skip to content
การจัดการโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ของมะเขือเทศพืชเศรษฐกิจชุมชนเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร
นักวิจัย : อาจารย์ชฎาพร แนบชิด และคณะ สังกัดคณะวิทยาการจัดการ
แนวคิดที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้
มะเขือเทศพืชเศรษฐกิจหลักสำคัญหลังการทำนาปีของเกษตรกรอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร จนกลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจบ่งชี้อัตลักษณ์เชิงพื้นที่ กระบวนการปลูกมะเขือเทศที่ผ่านมาดำเนินการตามองค์ความรู้ดั้งเดิมจากบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนเกิดการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนางอย ตำบลเต่างอย สู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในชุมชน ด้วยกระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน พบว่าปัญหาที่สำคัญของกระบวนการเพาะปลูกมะเขือเทศ ดังนี้ คุณภาพของผลผลิตไม่ตรงตามความต้องการของตลาด และผลผลิตไม่คุ้มค่ากับการลงทุนเนื่องจากค่าใช้จ่ายในแต่กระบวนการผลิตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ผลผลิตที่ได้ราคากลับผันผวน ด้วยสาเหตุข้างต้นจึงดำเนินศึกษา การจัดการโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ของมะเขือเทศพืชเศรษฐกิจชุมชนเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับเกษตรกรโดยใช้หลักการบูรณาการโซ่อุปทานและโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ
ผลการดำเนินงาน
1) เกิดการแก้ไขปัญหากระบวนการผลิตมะเขือเทศพืชเศรษฐกิจชุมชนเต่างอยอย่างเป็นระบบ ด้วยทฤษฎีแบบจำลอง Supply Chain Operation Reference Model (SCOR Model) ซึ่งอธิบายลักษณะและแสดงกิจกรรมทั้งหมดในห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ ที่เกี่ยวข้องถึงการตอบสนองความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนช่วยลดปัญหาในการขนส่งและพัฒนาเพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดีขึ้น จำนวน 1 ระบบ
2) การวิเคราะห์ด้านปัจจัยการผลิต (Input) พบว่า
– ด้านเงินลงทุน การกู้นอกระบบเนื่องจากคุณสมบัติของผู้กู้ไม่ผ่านเกณฑ์ตามที่สถาบันการเงินต้องการ ส่งผลต่อดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าปกติ
– ด้านแรงงาน ขาดแคลนวัยแรงงานในพื้นที่
– ด้านพฤติกรรมการเพาะปลูก เกษตรกรยังยึดติดกับวิธีการปลูกแบบดั้งเดิม
3) การวิเคราะห์ด้านกระบวนการผลิต (Process) กระบวนการบำรุงดูแลรักษา ควบคุมโรคพืชและแมลงศัตรูพืช
4) ด้านการเก็บเกี่ยว (Output) การจำกัดปริมาณผลผลิตและราคาที่ทำสัญญาตกลงกันไว้ ถ้าผลผลิตมากเกินข้อตกลงร่วมกับโรงงาน พ่อค้าคนกลางจะเข้ามารับซื้อในราคาต่ำกว่าท้องตลาด แต่ถ้าหากจำหน่ายผลผลิตไม่หมดเกิดปัญหาสินค้าคงคลัง ซึ่งสามารถเก็บรักษาได้เพียง 1 เดือน หากเกินระยะเวลาจะส่งผลต่อคุณภาพไม่เป็นที่ต้องการของตลาด
การนำผลงานไปใช้ประโยชน์
ด้านชุมชนและพื้นที่
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนางอย เกิดการเรียนรู้การจัดการห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ของมะเขือเทศทั้งระบบแบบเชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่ส่งผลกระทบถึงกันในแต่ละช่วงของวงจรมะเขือเทศบ้านนางอย สู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกมะเขือเทศปลอดภัย และขยายพื้นที่เพาะปลูกมะเขือเทศปลอดภัย ต่อยอดสู่การส่งเสริมการผลิตมะเขือเทศด้วยระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee Systems, PGS) ส่งผลให้ผลผลิตมะเขือเทศให้มีวงจรชีวิตที่นานขึ้น ลดต้นทุนในการขนส่งและลดปริมาณสินค้าคงคลัง
อ้างอิงข้อมูลจาก
โครงการวิจัย “การจัดการโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ของมะเขือเทศพืชเศรษฐกิจชุมชนเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร”
หัวหน้าโครงการ : ชฎาพร แนบชิด
สนับสนุนโดย :ทุนสนับสนุนการวิจัยสำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จากงบประมาณแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561