Skip to content
วัชระพลาสเตอร์ข้าวปิดแผล
นักวิจัย : อาจารย์ ดร.พัลลภ จันทร์กระจ่าง สังกัดคณะวิทยาการจัดการ
แนวคิดที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้
ตลาดเวชภัณฑ์ดูแลแผลในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 900 ล้านบาทต่อปี เติบโตเฉลี่ยปีละ 5-10% ขณะที่มีผู้ประกอบการผลิตจำหน่ายพียง 4-5 ราย และมีช่องทางกระจายสินค้าเข้าสู่ธุรกิจขายยาทั่วไป 1.9 หมื่นแห่งทั่วประเทศไทย ชิ้นส่วนวัสดุที่สัมผัสบาดแผลสมัยใหม่ทำมาจากก๊อซแบบแห้งหรือแบบอาบแช่ ฟิล์มพลาสติก เจลโฟม ไฮโดรคอลลอยด์ แอลจิเนต ไฮโดรเจลและโพลีแซคคาไรด์ทั้งแบบครีม แบบเม็ดและแบบมีฟองมาก
โดยทั่วไป พลาสเตอร์ปิดแผล คือ แผ่นปิดแผล ทำมาจากผ้าก๊อซ มีแถบกาวอยู่ด้านหลัง
– ช่วยดูดซับของเหลวจากบาดแผล ทำให้แผลแห้งและสมานตัวเร็วขึ้น
– ช่วยกดแผลทำให้อาการปวดลดลง
– ช่วยป้องกันเชื้อโรคต่างๆเข้าสู่ร่างกาย ทางบาดแผล ซึ่งอาจทำให้เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อตามมาได้
พลาสเตอร์มีหลายประเภทที่แตกต่างกันทั้ง รูปร่างและขนาด การเลือกใช้พลาสเตอร์ให้เหมาะสมกับชนิดของบาดแผลและการศึกษาขั้นตอนการปิดพลาสเตอร์อย่างถูกต้องจะช่วยดูแลให้แผลหายเร็วขึ้นได้
แนวคิดของคณะผู้ประดิษฐ์ต้องการผลิตพลาสเตอร์ปิดแผลที่ทำมาจากวัตถุดิบของไทยเป็นส่วนใหญ่ และมีความเป็นเครื่องมือแพทย์ชนิดที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นนวัตกรรมที่มีความแปลกใหม่ระดับโลก เกิดจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ดำเนินการด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์อย่างเข้มงวดชนิดที่บุคคลผู้มีความรู้พื้นฐานสามารถทำซ้ำได้ผลลัพธ์อย่างเดิม และมีคุณค่าเชิงพาณิชย์อุตสาหกรรมอีกทั้งมีคุณสมบัติเชิงการใช้งานที่ดีกว่าและราคาขายถูกกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าจากต่างประเทศ นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มกับสินค้าเกษตรไทย
ผลการดำเนินงาน
1 . เชิงชุมชน
1.1 เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรไทย นับหลายร้อยล้านบาทต่อปี
1.2 มีการว่าจ้างแรงงานคนไทย
2. เชิงสังคม สร้างสินค้าที่เป็นประโยชน์ ชนิดดีขึ้น ถูกลง ปลอดภัยและเปี่ยมประสิทธิภาพให้ประเทศไทย
3. เชิงพาณิชย์ ลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้งบประมาณประเทศ โดยเป็นที่ต้องการของตลาดโลกอย่างมาก เห็นได้จากอัตรา
การซื้อขายสินค้าประเภทนี้ที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี
4. เชิงวิชาการ ยกระดับขีดความสามารถเชิงนวัตกรรมของไทยสู่นานาชาติ
การนำผลงานไปใช้ประโยชน์
ด้านชุมชนและพื้นที่
พลาสเตอร์ปิดแผลเป็นสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่มีวัตถุดิบได้มาจากวัสดุธรรมชาติของไทย 99% ประกอบด้วยชิ้นส่วนหลัก 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นส่วนที่สัมผัสบาดแผลทำขึ้นจากแป้งข้าวเจ้าบริสุทธิ์ มีลักษณะเป็นแผ่นเนื้อพรุน ผสมด้วยสารโพวิโดนไอโอดีน เพื่อต่อต้านและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย มีคุณสมบัติสกัดกั้นการตกเลือด ป้องกันการติดเชื้อ ดูดซับของเหลว บรรเทาความเจ็บปวดซ้ำเติม ส่วนที่ 2 เป็นชิ้นส่วนที่เป็นแผ่นกาวด้านเดียว เพื่อยึดเกาะผิวหนังปกติสำหรับกดดันให้แผ่นพรุนข้าวเจ้าอยู่กับที่ และส่วนที่ 3 เป็นชิ้นส่วนแผ่นลื่น เพื่อปิดป้องกันเนื้อกาวไม่ให้สัมผัสกับวัสดุข้างเคียงขณะเก็บบรรจุ ทำมาจากกระดาษสาเคลือบขี้ผึ้ง มาตรฐานเภสัชอุตสาหกรรม นับเป็นสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมไทย ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรไทย
รางวัลที่ได้รับ
รางวัลที่ได้รับ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2563 “รางวัลประกาศเกียรติคุณ” จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ