นวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากน้ำมันเมล็ดกระบก (Irvingia malayana Oliv. Ex A. Benn.)


นักวิจัย : อาจารย์ ดร.วุฒิชัย รสชาติ สังกัดสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ผู้ร่วมวิจัย :
1. นายสันติ ผิวผ่อง สถาบันวิจัยและพัฒนา

 


แนวคิดที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้


กระบก (Krabok) เป็นพืชท้องถิ่นอีกชนิดหนึ่งที่มีความน่าสนใจในการนำมาสกัดน้ำมันและศึกษาคุณสมบัติทางเคมีและทางกายภาพของน้ำมันที่ได้ เนื่องจากเป็นพืชที่พบมากในพื้นที่ภาคอีสานและเป็นที่รู้จักกันทั่วไป กระบกมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Irvingia malayana Oliv. Ex A. Benn. และจัดอยู่ในวงศ์ IRVING GIACEAE เป็นไม้ยืนต้นสูง 10-30 เมตร จากรายงานการวิจัยพบว่าในเมล็ดกระบกจะมีน้ำมันหรือไขมันเป็นองค์ประกอบหลักซึ่งเป็นสารไตรกลีเซอไรด์ประเภท lauric acid, meristic acid และ oleic acid และจากรายงานการวิจัยยังพบอีกว่าน้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดกระบกมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ด อัลมอนด์ อย่างไรก็ตามการสกัดน้ำมันเมล็ดกระบกมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ นั้นยังมีน้อยมาก โดยส่วนใหญ่จะนำเนื้อเมล็ดกระบกมารับประทานเท่านั้น ดังนั้นโครงการวิจัยนี้จึงมีแนวคิดที่จะทำการสกัดน้ำมันจากเมล็ดกระบกเพื่อนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ ได้แก่ น้ำมันไบโอดีเซลและสบู่ก้อน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเมล็ดกระบกซึ่งเป็นพืชที่มีอยู่ในท้องถิ่น ตลอดจนเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในการนำผลผลิตเมล็ดกระบกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และยังเป็นการอนุรักษ์พืชท้องถิ่นอีกทางหนึ่งด้วย


ผลการดำเนินงาน

ได้ข้อมูลชนิดองค์ประกอบกรดไขมันในน้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดกระบก รวมทั้งคุณสมบัติทั้งทางเคมีและทางกายภาพของน้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดกระบก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ต่อไป ในส่วนการนำน้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดกระบกมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันไบโอดีเซล พบว่าคุณสมบัติของน้ำมันไบโอดีเซลที่ได้ความใกล้เคียงกับน้ำมันปิโตรเลียมดีเซลอย่างมาก และในส่วนการแปรรูปน้ำมันจากเมล็ดกระบกไปเป็นผลิตภัณฑ์สบู่ก้อนต้นแบบ จากการศึกษาพบว่าผลิตภัณฑ์สบู่ที่ได้มีคุณภาพเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด และมีคุณสมบัติที่เด่นกว่าสบู่ที่จำหน่ายตามท้องตลาดหลาย ๆ ประการ เช่น การเกิดฟอง การละลาย และค่าความเป็นกรด-ด่าง เป็นต้น จากการศึกษายังพบว่าปริมาณน้ำมันในเมล็ดกระบกมีมากถึงประมาณร้อยละ 60 ของน้ำหนักเนื้อเมล็ดกระบกแห้ง


การนำผลงานไปใช้ประโยชน์


ด้านสาธารณะ

องค์ความรู้จากงานวิจัยดังกล่าวข้างต้นได้ถูกนำมาถ่ายทอดให้ชุมชนผ่านเครือข่ายการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ชุมชนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ ต่อยอด และพัฒนาการแปรรูปพืชน้ำมันในท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้กับชุมชนต่อไปในอนาคต


อ้างอิง

ทุนสนับสนุนการวิจัยสำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จากงบประมาณเงินรายได้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562

©2024 RDI.SNRU.AC.TH. ALL RIGHTS RESERVED.