การก่อเกิดชุมชนนวัตกร สังคมนวัตกรรม เพื่อการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน


นักวิจัย : อาจารย์ ดร. มาลี ศรีพรหม สังกัดสาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

ผู้ร่วมวิจัย :
นายแสนสุรีย์ เชื้อวังคำ สถาบันวิจัยและพัฒนา

นางสาวอัสฉรา นามไธสง สถาบันวิจัยและพัฒนา
นายศักดิ์ดา แสนสุพรรณ สถาบันวิจัยและพัฒนา
นางสาวญาณวิจา คำพรมมา สถาบันวิจัยและพัฒนา

 


แนวคิดที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้


ผ้าย้อมครามเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญของจังหวัดสกลนครที่มีการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษอย่างยาวนาน
ก่อเกิดเป็นชุมชนนวัตกร เผยแพร่ประสบการณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นสังคมนวัตกรรม จนเป็นที่รู้จักและนิยมเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพราะคุณสมบัติของฝ้ายและครามประกอบกับเรื่องราวอันน่าทึ่งของภูมิปัญญาในการผลิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ได้จัดตั้งศูนย์ครามเป็นศูนย์ข้อมูล ที่มีชุดความรู้กระบวนการย้อมครามตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง จากการศึกษาพบว่า รูปแบบการผลิตครามธรรมชาติจากภูมิปัญญากำลังเลือนหาย เพราะกลุ่มผู้ผลิตครามส่วนใหญ่ไม่มีทายาทสืบทอด โดยมองว่ามีกระบวนการผลิตมีความยุ่งยาก มีความซับซ้อนและใช้กำลังแรงงานคนเป็นหลัก ผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุการทำงานที่ใช้กำลังมากเกินควรจะก่อให้เกิดความเมื่อยล้า ส่งผลเสียต่อสุขภาพ การพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือการผลิตจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถแก่ชุมชนนวัตกรครามในจังหวัดสกลนครให้เข้มแข็ง เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์วิจัยชุมชนด้านครามด้วยคนในชุมชนเป็นต้นแบบการเรียนรู้ รักษา พัฒนาและแบ่งปัน ที่ก่อเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน


ผลการดำเนินงาน

มีการถ่ายทอดนวัตกรรมเครื่องปั่นกวนครามได้ให้ความรู้เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตให้กับเกษตรกร 60 คน ใน 6 ชุมชน ประกอบด้วย 1) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าย้อมคราม-สีธรรมชาติบ้านโพนปลาโหล-นางอย ต.เต่างอย อ.เต่างอย จ.สกลนคร 2) กลุ่มแม่บ้านเกษตรทอผ้าบ้านนาเลา ต.บึงทวาย อ.เต่างอย จ.สกลนคร 3) กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านม่วงคำ ต.นาตาล อ.เต่างอย จ.สกลนคร 4) กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านบึงสา ต.จันทร์เพ็ญ อ.เต่างอย จ.สกลนคร 5) กลุ่มทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติถิ่นภูพานบ้านนาอ่าง ต.นาตาล จ.สกลนคร 6) กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านม่วงลาย ต.ม่วงลาย อ.เมือง จ.สกลนคร เพื่อนำไปใช้ในการเพิ่มศักยภาพการผลิตเนื้อครามของเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในอดีตเกษตรกรจะใช้ส้อมที่ทำจากไม้ไผ่ตีอากาศเพื่อให้เม็ดสีครามเกาะกับปูน ซึ่งต้องใช้แรงงานคนจากเดิม 30-45 นาที/ถัง และทำได้ครั้งละ 1 ถัง ทำให้เกิดการเมื่อยล้า และสิ้นเปลืองเวลา และเมื่อใช้นวัตกรรมเครื่องปั่นกวนครามทดแทนแรงงานคน เหลือเพียงแค่ 10-15 นาที/ถัง และสามารถขยายเพิ่มชุดเครื่องปั่นได้ 5-8 ถังในเวลาพร้อม ๆ กัน


การนำผลงานไปใช้ประโยชน์


ด้านชุมชนและพื้นที่

การผลิตเนื้อครามจากอดีตถึงปัจจุบัน จะใช้ไม้ตีด้วยแรงคนตีกวนในน้ำแช่ครามที่ได้สารสีเขียว เมื่อตีหรือกวนผสมกับปูน จะได้เนื้อครามสีน้ำเงินซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนานและเหนื่อยล้า ต้องตีต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ได้ทีละน้อยๆ ทำให้สูญเสียเวลาในการทำกิจกรรมอื่น ๆ การใช้นวัตกรรมเครื่องปั่นกวนครามมาทดเวลาและทดแรงจะช่วยให้ลดระยะเวลา ไม่เมื่อยล้า มีเวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่น


อ้างอิง

ทุนส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยโครงการวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ในชุมชนสังคม (Research Utilization for Community) ประจำปี 2561