การผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันที่ใช้แล้วโดยใช้เครื่องปฏิกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์: กรณีศึกษาโครงการธนาคารน้ำมันที่ใช้แล้วของโรงเรียนมัธยมวาริชภูมิ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร


นักวิจัย : อาจารย์ ดร.วุฒิชัย รสชาติ สังกัดสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 


แนวคิดที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้


โครงการวิจัยนี้เป็นการนำเอาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดจนนวัตกรรมของผู้วิจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากห้องปฏิบัติการนำไปสู่การถ่ายทอดให้กับชุมชน เริ่มต้นจากการสร้างฐานความรู้และสร้างแหล่งเรียนรู้พลังงานของชุมชนที่โรงเรียนมัธยมวาริชภูมิ โดยการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการสร้างเครื่องปฏิกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ การตรวจสอบคุณสมบัติของน้ำมันไบโอดีเซลเบื้องต้น การทดสอบการใช้งานจริงกับเครื่องจักรกลทางการเกษตร (รถไถนาแบบเดินตาม) ตลอดจนการบูรณาการในกระบวนการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาพลังงานทดแทนกับการใช้ประโยชน์ในรูปแบบ “ธนาคารน้ำมันที่ใช้แล้ว” เพื่อสร้างให้นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีองค์ความรู้ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านการจัดการกระบวนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลตั้งแต่ต้นน้ำ (การจัดการวัตถุดิบน้ำมันที่ใช้แล้ว) กลางน้ำ (กระบวนการผลิตและการตรวจสอบคุณสมบัติของน้ำมันไบโอดีเซลเบื้องต้น) และปลายน้ำ (การจัดจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลที่ได้ให้กับชุมชน) นอกจากนี้โครงการวิจัยนี้ยังประสานความร่วมมือกับชุมชนเพื่อสร้างเครือข่ายการเรียนรู้กับชุมชนให้มีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต


ผลการดำเนินงาน

ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการสามารถสร้างเครื่องต้นแบบสำหรับผลิตน้ำมันไบโอดีเซลได้เอง โดยอาศัยการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากคณะผู้วิจัย และในการดำเนินโครงการในครั้งนี้สามารถสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ของพื้นที่เป้าหมายประกอบด้วยโรงเรียนมัธยมวาริชภูมิ ชุมชนโดยรอบโรงเรียน เทศบาลตำบลปลาโหล และศูนย์ความเป็นเลิศด้านพลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร


การนำผลงานไปใช้ประโยชน์


ด้านสาธารณะ

องค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันที่ใช้แล้วโดยใช้เครื่องปฏิกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ และแนวทางการจัดการน้ำมันที่ใช้แล้วผ่านวิธีการ “ธนาคารน้ำมันที่ใช้แล้ว” เป็นอีกแนวทางในการนำข้อมูลและองค์ความรู้จากงานวิจัยไปใช้ในการลดต้นทุนด้านพลังงานเชื้อเพลิงให้กับเกษตรกร ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และยังสามารถนำกรณีศึกษาจากงานวิจัยนี้ไปใช้เป็นตัวอย่างในการพัฒนาและต่อยอดสู่ชุมชนต่าง ๆ ที่สนใจด้านพลังงานแทดแทนน้ำมันไบโอดีเซล รวมทั้งยังสามารถบูรณาการด้านวิชาการในการจัดการเรียนการสอนทั้งในระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษา เพื่อเสริมสร้างให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนของชุมชนต่อไปในอนาคต


อ้างอิง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนกรวิจัย (สกว.) ภายใต้ชุดโครงการ “การพัฒนานักวิจัยและระบบสนับสนุนนักวิจัยเพื่อชุมชนและสังคม ปี 2561”

©2024 RDI.SNRU.AC.TH. ALL RIGHTS RESERVED.