นักวิจัย : รศ.ดร.ชนินทร์ วะสีนนท์ และ ผศ.ดร.นันทกาญจน์ เกิดมาลัย คณะวิทยาการจัดการ
แนวคิดที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้
นโยบายจังหวัดสกลนคร เมืองมหาเวชนครแห่งพฤกษเวช เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจร จากต้นทางถึงปลายทาง เครือข่ายอินแปงเป็นกลุ่มชาวบ้านที่มีการรวมตัวและยกระดับความเข้มแข็งมากว่า 3 ทศวรรษ จนมีเครือข่ายมากกว่า 90 ตำบลครอบคลุม 6 จังหวัดของภาคอีสานตอนบน ยุทธศาสตร์หลักของเครือข่ายอินแปง คือการยกป่าภูพานมาไว้สวน ส่งผลให้พื้นที่ป่าและสวนมีสมุนไพรมากขึ้น โดยเฉพาะสมุนไพรเถาเอ็นอ่อนเป็นยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณของยาแก้อาการปวดเมื่อยหลังเอว เป็นอาการที่พบบ่อยของเกษตรกรที่มีการก้มเงยบ่อยครั้ง โดยที่สมุนไพรเถาเอ็นอ่อนมีปริมาณมากกว่า 20,000 ไร่ (ธวัชชัย กุณวงศ์, สัมภาษณ์) ความต้องการของเครือข่ายอินแปงมีความประสงค์ให้มีการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสมุนไพรเถาเอ็นอ่อนเพื่อยกระดับวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อมของเครือข่ายให้สูงขึ้น
ผลการดำเนินงาน
รูปแบบการดำเนินการ 2 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรตำรับดั้งเดิม ประกอบด้วย สมุนไพรตู้อบ สมุนไพรแช่มือแช่เท้า น้ำมันว่าน ยาหม่อง และลูกประคบ และ 2.การพัฒนาตำรับสมุนไพรตามรสนิยมของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยพัฒนาตำรับ ณ โรงพยาบาลพรรณนานิคม (พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร) ประกอบด้วย สเปรย์ น้ำมันนวด ขี้ผึ้ง สมุนไพรพอกเข่า ลูกประคบสมุนไพร และสุมนไพรบำรุงร่างกาย จากนั้นจึงทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ ออกแบบตรา ฉลาก บรรจุภัณฑ์ และขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพรเถาเอ็นอ่อน เลขที่จดแจ้งจากสำนักงานอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงมีการพัฒนานวัตกรรมแผ่นประคบร้อนเถาเอ็นอ่อน จากการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ลูกประคบเถาเอ็นอ่อน และสร้างช่องทางออนไลน์ Facebook Shopee สร้างอาชีพตัวแทนจำหน่าย สร้างรายได้ให้สมาชิกเครือข่าย ผลการตอบรับของผู้บริโภค มีความพึงพอใจในระดับมากด้านผลิตภัณฑ์มีความน่าสนใจ บรรจุภัณฑ์สวยงาม ทันสมัย และการประเมินความมีส่วนร่วม พบว่า มีส่วนร่วมวางแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์มากที่สุด โดยที่การพัฒนาในภาพรวมสามารถยกระดับคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรเถาเอ็นอ่อนให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของเครือข่ายให้สูงขึ้น
การนำผลงานไปใช้ประโยชน์
ด้านเชิงพาณิชย์
ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จากการสร้างนวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ใหม่ ตำรับสมุนไพร สเปรย์ น้ำมันนวด ขี้ผึ้ง สมุนไพรพอกเข่า ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน เลขที่จดแจ้งจากสำนักงานอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตของวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อม สามารถยกระดับรายได้ให้กับสมาชิกของเครือข่ายตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางที่นำไปสู่การสร้างสวัสดิการชุมชนให้สูงขึ้น และเป็นต้นแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรของเครือข่ายประเภทอื่นต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
โครงการวิจัย : การพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรเถาเอ็นอ่อนเชิงพาณิชย์ของวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อม
หัวหน้าโครงการ : รศ.ดร.ชนินทร์ วะสีนนท์
สนับสนุนโดย :ทุนสนับสนุนการวิจัย สำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จากงบประมาณแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ 2562