ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับของชุมชนรอบหนองหาร จังหวัดสกลนคร


นักวิจัย : อาจารย์ ดร.กุลวดี สุวรรณไตรย์ นางเนตรนภา พนมเขตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

 


แนวคิดที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้


จังหวัดสกลนครเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการระบาดของพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เนื่องจากมีแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ (หนองหาร) ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนและสัตว์ที่อาศัยอยู่โดยรอบ รวมทั้งเป็นแหล่งเพาะพันธ์สัตว์น้ำนานาชนิด โดยเฉพาะปลาวงศ์ตะเพียน และหอยสกุล Bithynia spp. ที่เป็นตัวกลางในการแพร่กระจายพยาธิ จากรายงานการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับของจังหวัดสกลนครในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าอัตราการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับในประชาชนมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังคงมีรายงานการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับอย่างต่อเนื่อง แสดงว่าประชาชนในจังหวัดสกลนครยังคงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบหนองหาร

ผลการดำเนินงาน

การศึกษาความเสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับของชุมชนรอบหนองหาร สามารถสร้างแบบจำลองเชิงพื้นที่ที่ประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และระบบการสำรวจข้อมูลระยะไกลในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อทำนายพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับในชุมชนรอบหนองหาร ผลการศึกษาพบว่า ตำบลธาตุเชิงชุม ตำบลฮางโฮง และตำบลเชียงเครือ เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับมากที่สุด รองลงมาคือ ตำบลบ้านแป้น และตำบลเหล่าปอแดง ตามลำดับ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ได้นำไปถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ชุมชน ซึ่งดำเนินการร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) ในการให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และประชาชนที่สนใจ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนขององค์ความรู้ในชุมชน นำไปสู่การปรับเปลี่ยนความรู้และทัศนคติที่ไม่ถูกต้องในการบริโภคอาหาร และสร้างแกนนำชุมชนในการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการป้องกันโรคในชุมชน

การนำผลงานไปใช้ประโยชน์


ด้านชุมชนและพื้นที่

ประชาชนในชุมชนรอบหนองหารเกิดการเรียนรู้การป้องกันการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะมากขึ้น รวมทั้งเกิดแกนนำและความยั่งยืนในชุมชน และนำไปสู่ “ชุมชนหนองหารรวมใจ ห่างไกลพยาธิใบไม้ตับ กำจัดการเกิดมะเร็งท่อน้ำดี


 

อ้างอิงข้อมูลจาก

โครงการวิจัย : ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับของชุมชนรอบหนองหาร จังหวัดสกลนคร

หัวหน้าโครงการ : อาจารย์ ดร.กุลวดี สุวรรณไตรย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
สนับสนุนโดย : ทุนสนับสนุนการวิจัยสำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จากงบประมาณเงินรายได้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562