นักวิจัย : อาจารย์ ดร. สมชาย บุตรนันท์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
แนวคิดที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้
ข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทยและเป็นสินค้าทางการเกษตรที่สำคัญต่อการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศ ตลอดจนเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย แต่ผลผลิตข้าวของไทยต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สาเหตุหลักเกิดจากดินที่ใช้ในการปลูกข้าวในประเทศไทยเกิดความเสื่อมโทรม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในปัจจุบัน การใช้ถ่านเพื่อเป็นสารปรับปรุงดิน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปในปัจจุบันว่า ถ่านชีวภาพหรือไบโอชาร์ กำลังเป็นที่นิยมทั้งในวงการนักวิชาการ และเกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย การนำแกลบซึ่งเป็นวัสดุที่เหลือใช้จากการผลิตข้าวไปผลิตเป็นสารปรับปรุงดินในนาข้าว จึงเป็นวิธีการหนึ่งในการหมุนเวียนทรัพยากรกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักการ BCG Economy model อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยส่วนใหญ่พบว่าถ่านไม่ได้ทำให้ข้าวมีผลผลิตเพิ่มขึ้นทันที ทั้งนี้อาจมีสาเหตุมาจากความไม่สอดคล้อง (desynchronization) กันระหว่างความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารในดินและการดูดใช้ธาตุอาหารของข้าว การใช้ระยะเวลาที่เหมาะสมในการหมักถ่านแกลบในดินก่อนปักดำอาจทำให้เกิดความสอดคล้องระหว่างการให้ธาตุอาหารจากระบบดินกับการดูดใช้ของข้าวได้มากขึ้น โครงการวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของระยะเวลาในการหมักถ่านแกลบก่อนการปักดำต่อคุณสมบัติของดิน การเจริญเติบโตและผลผลิตของข้าวที่ปลูกในดินนาที่เสื่อมโทรม
ผลการดำเนินงาน
การใช้ถ่านแกลบเป็นสารปรับปรุงดินทำให้ข้าวมีผลผลิตเพิ่มขึ้น และต้องใส่และคลุกเคล้าถ่านแกลบลงดินในวันเดียวกันกับวันที่ทำการปักดำข้าว โดยไม่ต้องมีการหมักถ่านแกลบกับดินไว้ล่วงหน้า เนื่องจาก การใช้ระยะเวลาในการหมักถ่านแกลบก่อนการปักดำนานขึ้น จะทำให้ผลผลิตข้าวลดลงเรื่อย ๆ ทั้งนี้เพราะการใส่ถ่านแกลบและคลุกเคล้าให้เข้ากันกับดิน ถ่านจะทำปฏิกิริยากับความชื้นในดินและปลดปล่อยโพแทสเซียมและซิลิกอนจากถ่านไปสู่ดินมากเกินไป โพแทสเซียมจะขัดขวางการดูดใช้แคลเซียมและแมกนีเซียมของข้าว และซิลิกอนจะไปขัดขวางการดูดใช้เหล็กและแมงกานีส นอกจากนี้ การหมักถ่านในดินที่นานขึ้นจะทำให้พีเอช (pH) ของดินเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ข้าวดูดใช้เหล็กและแมงกานีสได้น้อยลง ดังนั้นจึงทำให้ข้าวขาดธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก และแมงกานีส เมื่อมีระยะเวลาของการหมักถ่านก่อนการปักดำนานขึ้น
การนำผลงานไปใช้ประโยชน์
ด้านเชิงสาธารณะ ระดับชุมชน
องค์ความรู้จากโครงการวิจัยนี้ได้นำไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรจากอำเภอพรรณนานิคม โคกศรีสุพรรณ และโพนนาแก้ว โดยได้ทำการจัดอบรม ณ อาคารอบรมศูนย์วิจัยข้าวสกลนคร ทำให้เกษตรกรสามารถนำองค์ความรู้เกี่ยวกับการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหมุนเวียนไปผลิตเป็นถ่านเพื่อใช้ในการปรับปรุงดิน และเกษตรกรทราบวิธีการที่ถูกต้องในการใช้ถ่านในนาข้าว นอกจากข้าวแล้ว เกษตรกรยังสามารถนำความรู้จากการอบรมไปต่อยอดกับพืชอื่นได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
โครงการวิจัย : ระยะเวลาการหมักถ่านแกลบในดินก่อนการปักดำที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของข้าวที่ปลูกในดินทรายที่เสื่อมโทรม
หัวหน้าโครงการ : อาจารย์ ดร. สมชาย บุตรนันท์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
สนับสนุนโดย : ทุนสนับสนุนการวิจัยสำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จากงบประมาณเงินรายได้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562